เพลี้ยแป้งในชบา

หมวดหมู่: โรค

เพลี้ยแป้งในชบา

ถ้าเพื่อนๆ กำลังปลูกชบาอยู่ต้องระวังๆ เพลี้ยแป้งกันนะคะ

เรามาทำความรู้จักเพลี้ยแป้งกันค่ะ เพลี้ยแป้ง (Solenopsis mealybug, Hibiscus mealybug) เป็นศัตรูพืชที่พบมากในชบา

      

ลักษณะของเพลี้ยแป้ง

        ลำตัวเป็นข้อ ปล้อง รูปร่างกลมหรือยาวรี ส่วนหัวและขาอยู่ใต้ลำตัว มี 6 ขา ไม่มีปีก มีผงแป้งคลุมตัว ปากเป็นแบบดูดกิน ขยายพันธุ์ได้ทั้งโดยการใช้เพศและไม่ใช้เพศ (Thelytokous parthenogenesis) ซึ่งเพศเมียไม่จำเป็นต้องได้รับการผสมพันธุ์จากเพศผู้ มีทั้งประเภทออกลูกเป็นไข่ (Oviparous) หรือออกลูกเป็นตัว (Viviparous)

        ไข่เพลี้ยแป้งมีไข่เป็นฟองเดี่ยว สีเหลืองอ่อน ยาวรี บรรจุอยู่ในถุงไข่ซึ่งมีเส้นใยคล้ายสำลีหุ้มไว้ ตัวอ่อนเพลี้ยแป้งมีตัวอ่อนสีเหลืองอ่อน ตัวยาวรี ตัวอ่อนวัยแรก (Crawlers) เคลื่อนที่ได้ มีการลอกคราบ   34 ครั้ง

        ตัวเต็มวัย เพศเมีย มีลักษณะลำตัวค่อนข้างแบน บนหลังและด้านข้างมีขนปกคลุมมาก ชนิดวางไข่จะสร้างถุงไข่ไว้ใต้ท้อง มีลักษณะเป็นเส้นใยคล้ายสำลีหุ้มไว้อีกชั้นหนึ่ง ส่วนชนิดออกลูกเป็นตัวลำตัวป้อม กลมรี ส่วนหลังและด้านข้างมีแป้งเกาะ

        เพศผู้มีปีก 1 คู่ ลักษณะคล้ายแตนหรือแมลงหวี่ ขนาดเล็กกว่าเพศเมีย การดำรงชีวิตดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช เพลี้ยแป้งมักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ปกติทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย สามารถเคลื่อนไหวได้บ้าง แต่จากลักษณะการกินและการทำลายพืช จึงมักเห็นอยู่นิ่งไม่ค่อยเคลื่อนที่

        เพลี้ยแป้งเข้าทำลายโดยการดูดน้ำเลี้ยง โดยใช้ส่วนของปากที่เป็นท่อยาว ดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนยอด ใบ ตา และลำต้น เพลี้ยแป้งสามารถระบาดและทำลายชบาหลังในทุกระยะการเจริญเติบโต โดยเพลี้ยแป้งจะขับถ่ายมูลที่มีลักษณะของเหลวข้นเหนียวมีรสหวาน ทำให้เกิดราดำปกคลุมปิดบังบางส่วนของใบพืช มีผลทำให้การสังเคราะห์แสงของพืชลดลง ส่วนในปากที่เป็นท่อยาวของเพลี้ยแป้งที่กำลังดูดน้ำเลี้ยง อาจมีฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตถูกขับออกมาด้วย ทำให้ส่วนลำต้นที่ถูกทำลายด้วยเพลี้ยแป้ง มีข้อถี่มาก มีการแตกใบเป็นพุ่มหนาเป็นกระจุก โดยส่วนของยอด ใบ และลำต้นอาจแห้งตายไปในที่สุด

 

แนวทางการป้องกันและกำจัด

  1. กำจัดวัชพืชที่เป็นแหล่งอาศัยของเพลี้ยแป้ง
  2. การป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้ง ใช้น้ำพ่นให้ถูกตัวอย่างแรง เพลี้ยแป้งก็จะหลุดจากต้นพืช
  3. การป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งสามารถใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย อัตรา 80-100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แนะนำฉีดพ่นทุกๆ 3-5 วัน ติดต่อกัน 3-4 ครั้ง
  4. การใช้ศัตรูธรรมชาติในการควบคุมเพลี้ยแป้ง เช่น ด้วงเต่าลายหยัก ด้วงเต่าสีส้ม และแมลงช้างปีกใส เป็นต้น
  5. ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร อิมิดาโคลพริด 70%WG อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ไดไนทีฟูแรน 10%WP อัตรา 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

Reference:

  1. Pisuth EK-AMNUAY 2019 Diseases and pests of economic importance 7th Edition
  2. https://th.wikipedia.org/wiki/เพลี้ยแป้ง

30 เมษายน 2564

ผู้ชม 1376 ครั้ง

Engine by shopup.com