แมลงศัตรูในแตงเมล่อน

หมวดหมู่: บทความ

แมลงศัตรูในแตงเมล่อน

          แตงเมล่อน เป็นพืชที่จัดอยู่ในกลุ่มพืชที่มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Cucumis melo L. ซึ่งมีชื่อเรียกทั่วไปหลายชื่อ เช่น เมล่อน (melon) แคนตาลูป (cantaloupe) และมีมากมายหลายสายพันธุ์ แตกต่างกันทั้งผิวเปลือกของผล สีของเนื้อแตง แต่ในบทความนี้ จะขอเรียกเรียกรวมกันทั้งหมดว่า “แตงเมล่อน” ซึ่งหมายถึงพืชกลุ่มเดียวกันในทางพฤกษศาสตร์ที่มีปัญหาเรื่องแมลงศัตรูพืชเหมือนกัน และเป็นประเด็นหลักที่จะพูดถึงรายละเอียดของแมลงแต่ละชนิดที่พบทั่วไปในปลูกแตงเมล่อน  ตลอดจนแนะนำวิธีการป้องกันกำจัด เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้เป็นหลักการในการแก้ปัญหา ต่อไป

          แตงเมล่อน เป็นพืชที่มีความอ่อนแอต่อศัตรูพืช ทั้งโรคและแมลง ซึ่งมีแมลงศัตรูหลายชนิดที่พบทั่วไปในการปลูกแตงเมล่อน ทำให้ผลผลิตเสียหาย ไม่ได้คุณภาพผลตามที่ตลาดต้องการ ดังนั้น การปลูกแตงเมล่อน จึงต้องดูแลละเอียด ตลอดฤดูปลูก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่าพืชอื่นๆอีกหลายชนิด เกษตรกรต้องจำแนกชนิดของแมลงศัตรูก่อนจะตัดสินใจว่าจะใช้สารเคมีชนิดใดที่มีประสิทธิภาพจำเพาะเจาะจงกับแมลงศัตรูแต่ละชนิด จึงจะทำให้มีความคุ้มค่ากับการลงทุนของเกษตรกร

          แมลงศัตรูที่สำคัญและเป็นปัญหาทั่วไปในการปลูกแตงเมล่อน อาจแบ่งอย่างง่ายๆ ตามลักษณะการทำลายพืช คือ แมลงศัตรูประเภท ปากดูด และ แมลงประเภท ปากกัด ดังนี้

 

 

เพลี้ยไฟ

          เพลี้ยไฟ เป็นแมลงประเภท ปากดูด คือ ดูดกินน้ำเลี้ยงในเนื้อเยื่อพืช ชอบหลบซ่อนอยู่ในยอดอ่อนของต้นแตงทำให้สังเกตเห็นตัวเพลี้ยไฟได้ยาก เพราะมีขนาดเล็กมาก นอกจากจะสังเกตดูอาการถูกทำลายของพืช คือ ใบอ่อน ยอดอ่อนหงิกงอ ซึ่งก็แสดงว่า มีเพลี้ยไฟอยู่บนต้นพืชจำนวนมากแล้ว ทำให้การป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ เป็นเรื่องค่อยข้างยากสำหรับเกษตรกร

  

 

เพลี้ยอ่อนและแมลงหวี่ขาว

          เพลี้ยอ่อน เป็นแมลงศัตรูประเภท ปากดูด อีกชนิดหนึ่ง มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว คือ ตัวเต็มวัย ทีทั้ง มีปีกและไม่มีปีก พวกมีปีก จะเคลื่อนย้ายแพร่กระจายไประหว่างต้นพืช ส่วนพวก ไม่มีปีก ไม่เคลื่อนย้ายมากนัก ในเขตร้อนแบบประเทศไทย ความเสียหายจากการทำลายโดยตรงของเพลี้ยอ่อน อาจมีไม่มากนัก แต่ตวามสำคัญในทางการเกษตร คือ มีรายงานทางวิชาการว่า เพลี้ยอ่อน เป็นพาหะนำโรคไวรัส

          แมลงหวี่ขาว ก็เป็นแมลงศัตรูประเภท ปากดูด โดยทั่วไป พบว่ามีปริมาณไม่มากนัก การทำลายจากการดูดกินน้ำเลี้ยงโดยตรง จึงไม่มีความเสียหายต่อต้นพืชมากนัก แต่แมลงหวี่ขาว ก็มีรายงายว่า เป็นพาหะนำโรคไวรัส เช่นกัน

 

 

          แมลงศัตรูประเภท ปากดูด ดังกล่าวข้างต้น มีความสำคัญมากต่อการปลูกแตงเมล่อน เพราะเป็นพาหะนำโรคไวรัส ซึ่งมักพบในทุกที่ ที่มีการปลูกแตงเมล่อน และโรคไวรัส ในปัจจุบัน ยังไม่มีสารเคมีใดๆ สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ นอกจากการกำจัดแมลงปากดูด ดังกล่าว ให้เร็วที่สุด ก่อนที่แมลงจะแพร่เชื้อไวรัสออกไป จึงจะช่วยลดการเป็นโรคไวรัสได้

 

ด้วงเต่าแตง               

          ด้วงเต่าแตง เป็นแมลงประเภท ปากกัด โดยตัวเต็มวัยจะกัดกินทั้งใบอ่อนและใบแก่ของต้นแตง (ส่วนตัวอ่อนเป็นหนอนอาศัยอยู่ในดิน) ด้วงเต่าแตง มีหลายชนิด สีสันบนปีกแตกต่างกันออกไป แต่ที่พบทั่วไปในแปลงปลูกแตง มีสีน้ำตาลอ่อนและสีดำ ถ้าปล่อยให้ด้วงเต่าแตงมีปริมาณมาก ก็จะทำให้ใบแตงเสียหาย ส่งผลให้ต้นแตงไม่สมบรูณ์ ด้วงเต่าแตงอาจเข้าทำลายตั้งแต่ระยะกล้าไปจนถึงระยะดอก 

  

 

หนอนกระทู้และหนอนเจาะสมอฝ้าย

          หนอนกระทู้ เป็นแมลงศัตรูประเภท ปากกัด แม่ผีเสื้อจะวางไข่บนใบพืช เมื่อไข่ฟักออกเป็นตัวหนอน หนอนก็จะกัดกินใบอ่อน ยอดอ่อน ไปจนถึงเจาะเข้าทำลายผลแตง

          หนอนเจาะสมอฝ้าย คือ หนอนชนิดเดียวกับที่เจาะเข้าทำลายสมอฝ้าย แต่แมลงชนิดนี้ สามารถอาศัยอยู่บนพืชอื่นๆได้มากมายหลายชนิด รวมทั้งพืชตระกูลแตง 

  

 

หนอนแตงเมล่อน

          หนอนแตงเมล่อน เป็นแมลงศัตรูประเภท ปากกัด อีกชนิดหนึ่ง ที่ชอบอาศัยอยู่บนพืชตระกูลแตง แม่ผีเสือจะวางไข่บนใบพืช หนอนจะกัดกินใบ มักพบว่า หนอนจะชัดใยขาวมาหุ้มตัว เมื่อจะเข้าดักแด้บนใบ

 

 

หนอนชอนใบ

          หนอนชอนใบ เป็นแมลงที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับแมลงวัน ตัวเต็มวัย จึงมีลักษณะคล้ายแมลงวัน ตัวหนอนที่ฟักออกไข่ จะชอนอยู่ใต้ผิวใบและกัดกินเนื้อเยื่อใบ ทำให้ใบพืชมีลักษณะเป็นรอยยาว คดไปมา ตามทางที่หนอนเคลื่อนย้ายไป หนอนชอนใบ มักพบบนใบแก่และเข้าทำลายในระยะที่ต้นแตงโตเต็มที่ หรือระยะติดผลแล้ว ความเสียหายต่อต้นแตงอาจมีไม่มากนัก แต่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพของผลผลิต

 

 

การทดสอบโปรแกรมการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูแตงเมล่อน       

          จากปัญหาแมลงศัตรูต่าง ดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วนิดาเกษตร ได้ทำการทดสอบโปรแกรมการควบคุมแมลงที่เข้าทำลายต้นแตง จำนวน 3 แปลง ในสถานที่และระยะเวลาที่ต่างกัน เพื่อจะนำข้อมูลมาใช้สำหรับแนะนำให้เกษตรกรใช้เป็นหลักการควบคุมโรคในแตงเมล่อน

          ชนิดของแมลงศัตรูที่พบในแปลงทดสอบ มีทั้งที่เหมือนกันและที่ต่างชนิดกัน ดังนั้น การกำหนดโปรแกรมการฉีดพ่นสารเคมี จึงมีความแตกต่างกันไปตามสภาพที่พบแมลงศัตรูเข้าทำลาย ดังนี้

ผลการทดสอบแปลงที่ 1

 

 

          ในแปลงทดสอบที่ 1 แมลงศัตรูที่พบเข้าทำลาย คือ เพลี้ยไฟ เป็นหลัก พบแมลงหวี่ขาวจำนวนน้อยและมีหนอนชอนใบในช่วงที่แตงติดผลแล้ว สารเคมีที่เลือกใช้ จึงมีเพียง 2 ชนิด คือ ฟิโพรนิลและอะเซทามิพริด ซึ่งมีประสิทธิภาพดีต่อแมลงประเภท ปากดูด

          ผลการทดสอบโปรแกรมการใช้สารเคมีในแปลงที่ 1 พบว่า แปลงทดสอบที่ใช้สารฟิโพรนิลและสารอะเซทามิพริดสามารถควบคุมเพลี้ยไฟได้ดีกว่าแปลงเกษตรกร อย่างชัดเจน ต้นแตงในแปลงทดสอบมีความสมบรูณ์และมีอาการของโรคไวรัส น้อยกว่าในแปลงของเกษตรกร

 

  

 

 

ผลการทดสอบแปลงที่ 2 

          ในแปลงทดสอบที่ 2 แมลงศัตรูที่พบ คือ เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว และที่พบต่างไปจากแปลทดสอบที่ 1 คือ มีแมลงศัตรูประเภท ปากกัด ได้แก่ หนอนกระทู้และหนอนแตงเมล่อนเข้าทำลาย ยอดอ่อน ใบและผลแตง จึงเลือกสารเคมี ฟิโพรนิล อะเซทามิพริด สำหรับกำจัดแมลงประเภท ปากดูด และสารอีมาเมคตินเบนโซเอต สลับกับสารแลมดาไซฮาโลทริน สำหรับกำจัดแมลงประเภท ปากกัด

          ผลการทดสอบในแปลงที่ 2 ยืนยันกับผลที่ได้เหมือนกับในแปลงทดสอบที่ 1 คือ แปลงทดสอบสามารถควบคุมเพลี้ยไฟ ได้ดีกว่า แปลงเกษตรกร และการใช้สารอีมาเมคติน สลับกับ สารแลมดาไซฮาโลทริน ก็สามารถกำจัด หนอนกระทู้ หนอนแตงเมล่อน ได้ดีกว่าแปลงเกษตรกร อย่างชัดเจน

 

 

 

 

 

 

ผลการทดสอบแปลงที่ 3

          ในแปลงทดสอบที่ 3 แมลงศัตรูที่เข้าทำลายต้นแตง นอกจากเพลี้ยไฟแล้ว มีด้วงเต่าแตงเข้าทำลายตั้งแต่ระยะกล้าและในแปลงปลูกซึ่งทำให้ใบแตงเสียหาย แต่โปรแกรมการใช้สารเคมีเหมือนกับแปลงที่ 2

          ผลการทดสอบก็ยังยืนว่า แปลงทดสอบได้ผลดีกว่าแปลงเกษตรกร โดยเฉพาะสารฟิโพรนิล สามารถควบคุมด้วงเต่าแตงและเพลี้ยไฟ ได้ดีมาก มีอาการโรคไวรัสน้อยกว่าในแปลงเกษตรกร อย่างชัดเจน

 

 

 

 

 

ข้อคิดเห็นท้ายเรื่อง

          ผลจากการทดสอบโปรแกรมการใช้สารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดโรคในแตงเมล่อน จำนวน 3 แปลง ต่างสถานที่ ต่างระยะเวลากัน ครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ถ้าเกษตรกร สารารถจำแนกชนิดได้ชัดเจน แล้วคัดเลือกสารเคมีที่มีประสืทธิภาพในการควบคุมแต่ละชนิดได้ถูกต้อง และใช้เต็มอัตราที่แนะนำของสารแต่ละชนิด ใช้ในเวลาที่เหมาะสม ก็จะสามารถ ลดการใช้สารเคมีลงได้ แต่ยังได้ผลผลิตดี เท่ากับเป็นการลดต้น เพิ่มผลผลิต นั่นเอง

 

 

เรียบเรียงโดย  สุจินต์ จันทรสอาด ที่ปรึกษาศูนย์แนะนำแก้ปัญหาการปลูกพืช VANIDA KASET (www.vanidakaset.com)

 

เอกสารที่ใช้อ้างอิงข้อมูล

  • Foster, Cucurbit insect management, Purdue Extension, Purdue University, publication E-30-W, 2016
  • Brown, Common insect pests of cucurbits, Agnote, no. 159, 2015
  • Webb, Insect Management for cucubits (cucumber, squash, cantaloupe, and watermelon) IFAS Extension ENY-460, University of Florida, 2017
  • Napier, Insect pests of cucurbit vegetables, NSW Department of Primary Industries, 2009
  • ณัฐชานันท์ วิบูลย์โชติกร การศึกษาลักษณะทางชีววิทยาโมเลกุลของยีนและโปรตีน Nucleocapsid และ Non-structural ของ Melon Yellow Spot Virus ที่เข้าทำลายเมล่อนในประเทศไทย วิทยานิพนธ์ ป.โท มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2555

 

 

18 กันยายน 2561

ผู้ชม 30057 ครั้ง

Engine by shopup.com