การกำจัด เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง

หมวดหมู่: บทความ

 

จะใช้สารเคมีกำจัดเพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง อย่างไรให้ได้ผลดีที่สุด ?

          ความคิดในการเขียนบทความนี้ เกิดขึ้นจากเกษตรกรส่งรูปใบทุเรียนที่มีเกล็ดสีขาวๆบนใบไปถามผู้เชี่ยวชาญในวารสาร เคหการเกษตร ฉบับประจำเดือน พฤศจิกายน 2561 ว่าใบทุเรียนในภาพนี้เกิดจากสาเหตุอะไร

 

ทางผู้เชี่ยวชาญของวารสารฯ ได้ตอบว่า เป็นเพลี้ยหอยเกล็ดในทุเรียน หรือที่ชาวสวนเรียกเพลี้ยหอยนาสาร พร้อมกับแนะนำสารเคมีสำหรับกำจัดเพลี้ยหอย แต่ยังไม่ได้บอกรายละเอียดเกี่ยวชีวิตของเพลี้ยหอยและวิธีการใช้สารเคมีอย่างไรจะให้ผลดีที่สุด จึงเกิดความคิดว่า ทางศูนย์แนะนำการแก้ปัญหาการปลูพืช ของบริษัท ลัดดา กรุ๊ป น่าจะนำข้อมูลรายละเอียด ดังกล่าว มาบอกเล่าให้เกษตรกรฟัง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการป้องกันกำจัดแมลงในกลุ่มที่เรียกว่า เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง ซึ่งมีวิถีชีวิต (ไลฟ์สไตล์) ที่พิเศษแตกต่างอย่างมากจากแมลงกลุ่มอื่นๆ และเกษตรกรมักกล่าวว่า แมลงกลุ่มนี้ ป้องกันกำจัดยากที่สุด

          ดังนั้น เนื้อหาในบทตวามนี้ จึงขอกล่าวถึงรายละเอียด แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ (1) ชีวิตของแมลงกลุ่มเพี้ยหอย เพลี้ยแป้ง และ (2) กลุ่มของสารเคมีที่นำมาใช้ในการป้องกันกำจัด เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง โดยเป็นข้อมูลจากประสบการณ์ที่ทางฝ่ายวิชาการของบริษัท ลัดดา กรุ๊ป ได้เคยทดสอบสาธิตไว้ในมะม่วงและน้อยหน่า

 

แมลงกลุ่ม เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง  

                   เพลี้ยหอย  เป็นแมลงประเภทปากดูดที่มีหลายหลากชนิด และเพลี้ยหอยที่ต่างชนิดกัน ก็จะมีรูปร่างแตกต่างกันอย่างมาก หลายชนิด มีขนาดเล็ก อาจชอบอาศัยอยู่ในซอกรอยแตกของเปลือกลำต้น ทำให้สังเกตได้ยากมาก ลักษณะทั่วไป มีเปลือกหุ้มลำตัว เพื่อเป็นเกราะป้องกันอันตราย คล้ายเพรียงในทะเล

 

          เพลี้ยแป้ง เป็นแมลงประเภทปาดดูด เช่นเดียวกับเพลี้ยหอย แต่มีรูปร่างที่พิเศษเฉพาะตัว สังเกตได้ง่าย คือมีผงแป้งหรือเส้นใยละเอียดเหมือนปุยฝ้าย ปกคลุมลำตัวให้เห็นเป็นสีขาวเด่นชัด เพลี้ยแป้งก็มีหลายชนิด  


              

 

          แต่ด้วยเหตุที่ ทั้ง เพลี้ยหอยและเพลี้ยแป้ง มีไลฟ์สไตล์ (พฤติกรรม) และวงจรชีวิตที่คล้ายคลึงกันหลายๆอย่าง นักกีฏวิทยา จึงจัดให้เป็นแมลงกลุ่มเดียวกัน พฤติกรรมที่เหมือนกันของแมลงทั้งสองกลุ่มนี้ คือ ดูดกินนำเลี้ยงในต้นพืช ทำให้ต้นพืชชงักการเจริญเติบโตและทำให้ผลผลิตเสียคุณภาพ เพราะเพลี้ยหอยและเพลี้ยแป้ง ถ้าเป็นชนิดที่ดูดกินน้ำเลี้ยงในท่ออาหารของพืช จะขับถ่ายมูลที่มีน้ำตาลออกมา เป็นต้นเหตุให้เกิดราดำบนผล เช่น มะม่วง ทุเรียน 

            

 

วงจรชีวิตของเพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง   

          วงจรชีวิต หรือขั้นตอนการเจริญเติบโตของเพลี้ยหอยและเพลี้ยแป้ง มีขั้นตอนเหมือนกัน คือ ตัวเมียจะวางไข่แล้วตัวอ่อน ฟักออกจากไข่ เจริญเติบโตไปเป็นตัวเต็มวัย ที่มีทั้ง ตัวผู้และตัวเมีย เนื่องจากแมลงกลุ่มนี้ มีหลายหลายชนิด จึงมีทั้ง ประเภทที่ตัวเมียวางไข่ได้โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ และแบบที่ต้องผสมพันธุ์กับตัวผู้ เพลี้ยแป้งวางไข่ในถุงสำหรับวางไข่ เพื่อปกป้องไข่ แต่เพลี้ยหอยจะวางไข่ใต้เกราะที่กำบังตัว

          ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่ระยะแรก จะไม่มีผงแป้งหรือแผ่นเกราะคลุมตัว ซึ่งในระยะนี้เท่านั้นที่ตัวอ่อนยังเคลื่อนไหว เพื่อหาแหล่งอาหาร เมื่อเคลื่อนย้ายไปได้แหล่งอาหารแล้ว ก็จะหยุดเคลื่อนย้าย อยู่นิ่งติดกับที่และตัวอ่อนจะเจริญเติบโตต่อไป และพัฒนามีผงแป้งหรือแผ่นเกราะหุ้มตัว ดังนั้น นักวิชาการ จึงเรียกตัวอ่อนระยะที่ไม่มีผงแป้งหรือเกราะหุ้มตัวว่า “crawler” ซึ่งไม่มีชื่อเรียกในภาษาไทย แต่คำว่า crawl แปลว่า คลาน ดังนั้น ในบทความนี้ จึงขอเรียกว่า “ตัวคลาน”  ตามภาพวงจรชีวิตเพลี้ยแป้ง-เพลี้ยหอย ต่อไปนี้

               

 

          สำหรับเพลี้ยหอยในทุเรียน ตามรูปที่เกษตรกร ส่งไปถามที่วารสารเคหเกษตร นั้น มีการเรียกชื่อ กันในภาษาไทยว่า เพลี้ยหอยนาสาร แต่ค้นหาเอกสารรายงานการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับเพลี้ยหอยชนิดนี้ ยังไม่ได้ จึงไม่ทราบว่าเป็นหอยชนิดใด (มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าอย่างไร?) แต่จากการเปรียบเทียบรูปร่างที่เห็นบนใบทุเรียน มีลักษณะเป็นเพลี้ยหอยกลุ่มที่มีเปลือกหุ้มตัวแบบแข็ง (armored scale) ตัวผู้กับตัวเมีย จะมีลักษณะที่แตกต่างกัน และตัวผู้จะมีจำนวนมากกว่าตัวเมีย

          เพลี้ยแป้งและเพลี้ยหอยส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมในการฟักเป็น “ตัวคลาน” พร้อมๆกันจากกลุ่มไข่ นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านแมลงกลุ่มนี้จะบอกได้ว่า เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย แต่ละชนิดจะฟักออกเป็น “ตัวคลาน” ในช่วงเวลาไหนของฤดูกาล ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการกำหนดระยะเวลาในการใช้สารเคมีกำจัดแมลง

 

          ด้วยเหตุที่ “ตัวคลาน” ไม่มีเกราะป้องกันตัว จึงเป็นระยะที่เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย อ่อนแอที่สุดต่อศัตรูธรรมชาติ (ตัวห้ำ ตัวเบียน) และสารเคมีกำจัดแมลง  ดังนั้น การสังเกตอย่างใกล้ชิดบนต้นพืช ก็พอจะมองเห็น “ตัวคลาน” ได้ด้วยตาเปล่า (หรืออาจใช้แว่นขยาย กำลังขยาย 10 เท่า) ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกร ในการวางแผนการฉีดพ่นสารเคมี ดังภาพต่อไปนี้

 

 

           จากภาพตัวอย่าง เพลี้ยแป้งในมะม่วง จึงให้ข้อคิดว่า ทันทีที่เกษตรกร สังเกตเห็นเพลี้ยแป้งหรือเพลี้ยหอยบนต้นพืช ให้รีบตรวจดูอย่างละเอียดว่ามี “ตัวคลาน” ปะปนอยู่ด้วยไหม ? เพราะ “ตัวคลาน” จะเป็นดัชนีชี้วัดว่า ประชากรของเพลี้ยมีปะปนกัน ตั้งแต่ ไข่ ตัวอ่อน ตัวเต็มวัย โดยเฉพาะ “ตัวคลาน” จะเป็นช่วงที่เพลี้ยอ่อนแอต่อสารเคมี มากที่สุด ให้รีบฉีดพ่นสารเคมีทันที และในระยะแรก อาจต้องทำการฉีดพ่นซ้ำทุกๆ 7 วัน แล้ว สังเกตปริมาณแมลงว่าลดลงหรือไม่

 

การใช้สารเคมี กำจัดเพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย

                    การใช้สารเคมี เพื่อควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย ควรมุ่งไปในทาง ป้องกัน และบริหารจัดการปริมาณของเพลี้ย ก่อนที่จะเกิดความเสียหายกับพืช เพราะเหตุว่า ถ้าปล่อยให้เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย มีปริมาณมากแล้ว จะควบได้ยากที่สุด เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย สามารถหลบซ่อนตามส่วนต่างๆของต้นพืช อีกทั้ง เกราะหรือแป้งบนตัว ช่วยป้องกันสารเคมีให้เพลี้ยรอดตายได้ แต่อย่างไรก็ตาม การหมั่นตรวจพืชอย่างละเอียดและการรู้จักเลือกใช้สารเคมีที่มีประสิทธิภาพ ใช้ให้ถูกที่ ถูกเวลา ก็สามารถลดความเสียหายจากการทำลายของเพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย ลงได้มาก

                    เพื่อให้การควบคุมปริมาณเพลี้ยได้ผลลดลงได้รวดเร็ว ก็อาจมีความจำเป็น ต้องฉีดพ่นสารเคมี ติดต่อกันทุกๆ สัปดาห์ โดยเฉพาะในระยะแรกๆ ที่พบเพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อนบนต้นพืช เพราะจะควบคุม ตัวอ่อนที่เรียกว่า “ตัวคลาน” ไม่ให้เพิ่มปริมาณและเติบโตเป็นตัวเต็มวัยที่จะไปวางไข่รุ่นต่อไป ระหว่างการฉีดพ่น อาจมีการสลับสารเคมีที่ต่างกลุ่มกัน เพื่อป้องกันการ “ดื้อยา” สารเคมี ที่มีประสิทธิภาพดีกับการกำจัด เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย คือ

  • สารกลุ่มควบคุมการเจริญเติบโตแมลง (insect growth regulator: IGR) เช่น สารบูโปรเฟซิน (Buprofezin) เป็นสารระงับการลอกคราบของแมลง ออกฤทธิ์ ได้ทั้ง ถูกตัวตายและกินตาย เหมาะกับช่วงที่มีปริมาณ “ตัวคลาน” เยอะ หรือตอนต้นฤดูปลูก และข้อดีของสารเคมีกลุ่มนี้ จะออกฤทธิ์ต่อตัวอ่อนของแมลงเท่านั้น จึงไม่มีพิษต่อ ตัวห้ำ ตัวเบียน ในธรรมชาติ
  • สารกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ (neonicotinoids) เป็นสารประเภทดูดซึม เช่น อิมิดาโครพริด (Imidacloprid) เป็นสารเคมีที่มีพิษต่อระบบประสาทของแมลง จึงเป็นสารที่ต่างกลุ่มการออกฤทธิ์กับสารระงับการลอกคราบ

 

การสาธิตโปรแกรมการใช้สารเคมีกำจัดเพลี้ยแป้งในมะม่วง

                เนื่องจากหลักการ การควบคุมการระบาดทำลายจากเพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย ดังที่กล่าวมาข้างต้น ต้องเป็นลักษณะ “การป้องกัน” ฝ่ายวิชาการ บริษัท ลัดดา กรุ๊ป จึงทำการทดสอบสาธิตจัดโปรแกรมการฉีดพ่นสารเคมีในมะม่วง จึงเริ่มจาก ระยะแตกใบอ่อน ไปจนถึงระยะติดผลอ่อน (อายุประมาณ 1 เดือน หรือก่อนห่อผลมะม่วง)

 

 

ผลการสาธิตในการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในมะม่วง

                     ผลการทดสอบสาธิตการป้องกันกำจัด เพลี้ยแป้งในมะม่วง ด้วยการทดสอบเปรียบเทียบ การใช้สาร บูโปรเฟซิน(Buprofezin) และสารอิมิดาคลอพริด (Imidacloprid) เปรียบเทียบกับการไม่ใช้สารเคมี พบว่า สารเคมีทั้ง 2 ชนิด ให้ผลในการป้องกันกำจัด เพลี้ยแป้ง ได้ดี และสารเคมีทั้งสองชนิดให้ผลดีกว่าการไม่ใช้สารเคมี อย่างชัดเจน

 

 

 

การสาธิตในการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในน้อยหน่า

                ด้วยผลการทดสอบที่ดีจากการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในมะม่วง ฝ่ายวิชาการ บริษัท ลัดดา กรุ๊ป จึงได้ทำการทดสอบในน้อยหน่า อีกพืชหนึ่งในเวลาต่อมา ซึ่งโปรแกรมการพ่นสารเคมียังคงหลักการเดียวกันกับในมะม่วง แต่ในน้อยหน่า มีการสลับสารเคมีที่ต่างกลุ่มการออกฤทธิ์กัน เพื่อปฏิบัติตามทฤษฎี การป้องการ “ดื้อยา”

 

 

การสาธิตในการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในน้อยหน่า

                ผลการทดสอบสาธิตในน้อยหน่า ได้ผลสอดคล้องกับการสาธิตในมะม่วง คือ ในแปลงสาธิต สามารถควบคุมปริมาณเพลี้ยแป้งเข้าทำลายผลน้อยหน่าได้ดีกว่าในแปลงเกษตรกร อย่างชัดเจน จำนวนผลน้อยหน่าที่มีเพลี้ยแป้งในแปลงสาธิต มีน้อยกว่าในแปลงเกษตรกร อย่างมีนัยสำคัญ

 

 

 

ข้อคิดเห็นท้ายเรื่อง

จากการทดสอบสาธิตการป้องกันกำจัด เพลี้ยแป้งในมะม่วงและน้อยหน่า ผลการทดสอบยืนยันได้ว่า การเลือกสารเคมีที่ถูกต้อง การใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม และอย่างต่อเนื่อง สามารถควบคุมแมลงศัตรูพืชที่มีคุณลักษณะพิเศษในการป้องกันตัวจากสารเคมี อย่างเช่น พลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง ซึ่งถือว่าเป็นแมลงศัตรูพืชที่ป้องกันกำจัดยาก  หลักการจัดการศัตรูพืช แบบนี้ ในทางวิชาการ เรียกว่า การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน ซึ่งแปลมาจากภาษาอังกฤษว่า intregated pest management  หรือมักเรียกย่อๆว่า IPM (ไอ พี เอ็ม) ที่เป็นหลักการที่นักวิชาการชอบส่งเสริมให้เกษตรกรปฏิบัติ เพราะจะช่วยให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีลงได้ ลดปัญหาความเสี่ยงต่อสารเคมีตกค้างบนผลผลิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะนำรายละเอียดมาวิเคราะห์ให้เกษตรกรได้เข้าใจอย่างง่ายๆและปฏิบัติได้ ในโอกาสต่อไป

 

 

เรียบเรียงโดย  สุจินต์ จันทรสอาด ที่ปรึกษาศูนย์แนะนำแก้ปัญหาการปลูกพืช VANIDA KASET (www.vanidakaset.com)

 

 

เอกสารที่ใช้อ้างอิงข้อมูล

  • Controlling Scale Insects and Mealybugs, The Alabama Cooperative Extension System (Alabama A&M University and Auburn University, 2017
  • Mealybug management, Wine Australia Factsheet, 2012
  • Mealybug Management in Greenhouses and Interiorscapes, Kansas State University Agricultural Experiment Station and Cooperative Extension Service, 2011
  • Scale Insects, A. Antonelli, Cooperative Extension, Washington state University, 2003
  • Scale insects, A difficult problem that can be managed, A. Manners, Agri-science Queensland, Department of Agriculture and Fisheries, Ecosciences Precinct, 2016

***************************

07 มกราคม 2562

ผู้ชม 7461 ครั้ง

Engine by shopup.com