ปัญหาโรคไวรัสและแมลงศัตรูในกระเจี๊ยบเขียว

หมวดหมู่: บทความ

ปัญหาโรคไวรัสและแมลงศัตรูในกระเจี๊ยบเขียว

          กระเจี๊ยบเขียว เป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย จากข้อมูลของ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร รายงานว่า การส่งออกกระเจี๊ยบเขียว ในปี 2559 (เฉพาะที่มีใบรับรองสุขอนามัยพืช) มีปริมาณสูงถึง 3,157 ตัน จัดเป็นลำดับที่ 8 ของการส่งออกพืชผัก ตลาดหลัก คือประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น เรื่องของสารเคมีตกค้างบนผลกระเจี๊ยบเขียว จึงเป็นประเด็นสำคัญสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกกระเจี๊ยบเขียว และมีรายงานว่า มีการตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินค่ากำหนดของทางราชการญี่ปุ่น ดังนั้น การใช้สารเคมีสำหรับป้องกันกำจัดศัตรูพืชในกระเจี๊ยบเขียว เกษตรกร จึงต้องระมัดระวังในเรื่องของสารเตมีตกค้างบนผลผลิต  

          ในบทความ นี้ จะพูดถึงรายละเอียดของโรคและแมลงศัตรูที่สำคัญของกระเจี๊ยบเขียว เพื่อให้เกษตรกรระมัดระวังในการปลูกกระเจี๊ยบเขียว และจะให้มูลค่าสารเคมีตกค้างสูงสุดที่กำหนดโดยรัฐบาลญี่ปุ่น  เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกใช้สำหรับเกษตรกร หรือใช้อย่างระมัดระวัง

 

แมลงศัตรูที่สำคัญในกระเจี๊ยบ

          ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรระบุว่า แมลงศัตรูที่พบในกระเจี๊ยบ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ แมลงประเภทปากดูด ได้แก่ เพลี้ยจักจั่นฝ้าย แมลงหวี่ขาว และแมลงประเภทปากกัด ได้แก่ หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย โดยเพลี้ยจักจั่นฝ่ายจะพบมากที่สุด เพลี้ยจักจั่นฝ้ายจะดูดกินน้ำเลี้ยงบนใบกระเจี๊ยบ ตั้งแต่ระยะต้นอ่อนไปจนถึงระยะเก็บเกี่ยว ใบกระเจี๊ยบที่ถูกเพลี้ยจักจั่นดูดกินนำเลี้ยง จะหงิกงอเป็นคลื่น เสียรูปทรง เกิดอาการใบไหม้หรือขอบใบเหลือง ใบเจริญเติบโตไม่สมบรูณ์ อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพของผลกระเจี๊ยบ เกษตรกรจึงมักพ่นสารเคมี เพื่อกำจัดเพลี้ยจักจั่นไปตลอด จนถึงระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้มักมีปัญหาเรื่องสารเคมีตกค้างเกินกำหนด เมื่อมีการส่งออก

          เพลี้ยจักจั่นฝ้าย เป็นชื่อที่เรียกอย่างเป็นทางการ เพราะเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญในฝ้ายและเป็นชนิดเดียวกันที่พบเข้าทำลายในกระเจี๊ยบเขียว เพลี้ยจักจั่นฝ้าย ชอบอาศัยอยู่ใต้ใบ ตัวเมียวางไข่สีเหลืองอ่อนใต้ใบ ทั้งตัวอ่อนและตัวแก่เต็มวัย ดูดกินน้ำเลี่ยงบนใบ

 

 

 

 

 

โรคที่สำคัญในกระเจี๊ยบ

          โรคที่สำคัญและเป็นปัญหามากที่สุดในการปลูกกระเจี๊ยบเขียวของเกษตรกร คือ โรคไวรัส ซึ่งงานวิจัยพบว่าแมลงประเภท ปากดูด เช่น แมลงหวี่ขาว เพลี้ยจักจั่น เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสให้แพร่กระจายไปในแปลงปลูกพืช เชื้อไวรัส มีหลายชนิด (Begomovirus) และทำให้เกิดอาการบนใบกระเจี๊ยบแตกต่างกัน เรียกชื่อโรคตามอาการที่เห็น เช่น โรคเส้นใบเหลือง (yellow vein mosaic disease: YVMD) โรคใบม้วนไวรัส (okra leaf curl disease: OLCD)

 

 

 

การระบาดของเพลี้ยจักจั่นฝ้ายและเกิดโรคไวรัสในแปลงกระเจี๊ยบเขียว

          ในงานทดสอบการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชในแปลงปลูกกระเจี๊ยบเขียวของ ศูนย์วนิดาเกษตร ในปี 2555พบว่า ในแปลงทดสอบ มีเพียงการระบาดของเพลี้ยจักจั่นฝ้าย ไม่พบการระบาดของแมลงศัตรูชนิดอื่นๆ การฉีดพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดเพลี้ยจักจั่นฝ้าย เปรียบเทียบกันหลายชนิด แม้จะพบว่า สารเคมีบางชนิดจะให้ผลดีในการกำจัดเพลี้ยจักจั่นฝ้าย แต่ต้นกระเจี๊ยบเขียว ก็ยังแสดงอาการ ใบหงิกม้วน ผิวใบเป็นคลื่น ใบเจริญไม่ปกติ ในทุกแปลงที่เปรียบเทียบสารเคมีกำจัดเพลี้ยจักจั่นฝ้าย และอาการผิดปกติของใบกระเจี๊ยบ มีอาการของโรคไวรัส ที่เรียกว่า โรคใบม้วนไวรัส แต่ไม่พบโรคเส้นใบเหลือง

 

 

 

          ในการทดสอบ สารเคมีแต่ละชนิด ใช้ตามอัตราที่แนะนำบนฉลาก เว้นระยะการฉีดพ่น 4-5 วัน/ครั้ง ซึ่งการควบคุมปริมาณเพลี้ยจักจั่นฝ้าย ก็อยู่ในเกณฑ์ที่พอใช้ได้ ซึ่งความเสียหายจากการทำลายจากการดูดกินน้ำเลี้ยงโดยตรง ไม่น่าจะสูงมากนัก แต่ความเสียหายบนต้นกระเจี๊ยบกลับมีมากในทุกแปลงที่ฉีดพ่นสารเคมี และเมื่อสังเกตอาการบนต้นกระเจี๊ยบเขียว มีการแสดงอาการของการเกิดโรคใบม้วนไวรัส ดังภาพต่อไปนี้

 

 

 

 

 

          ผลจากการทดสอบสารกำจัดแมลงศัตรูกระเจี๊ยบในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาสำคัญ ไม่ได้อยู่ที่การทำลายของแมลงศัตรูพืชเพียงอย่างเดียว แต่แมลงมีความเกี่ยวเนื่องกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคบนต้นกระเจี๊ยบ ดังนั้น หลักการที่เรียกว่า ไอพีเอ็ม (IPM) คือ การใช้สารเคมีอย่างสมเหตุสมผล ไม่มากเกินความจำเป็น นั้น คงจะใช้ไม่ได้กับกรณีมีโรคไวรัส ระบาด

 

ข้อคิดเห็นท้ายเรื่อง

จากการทดสอบการป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่นฝ้าย ดังกล่าวมาข้างต้น ทำให้มีข้อคิดว่า ในกรณีที่มีการระบาดของโรคไวรัส

โดยเฉพาะกับกระเจี๊ยบเขียว ซึ่งเป็นพืชที่อ่อนแอต่อโรคไวรัส การกำจัดแมลงที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสไปสู่พืช เช่น แมลงหวี่ขาว เพลี้ยจักจั่นฝ้าย เหล่านี้ เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งต่อเกษตรกร เพราะ โรคไวรัส ไม่มีสารเคมีใดๆ ที่สามารถกำจัดได้ การควบคุมแมลงพาหะอย่างเข้มงวด เท่านั้น และต้องทำอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ระยะกล้า หรือ ต้นกระเจี๊ยบเริ่มงอกบนแปลงปลูก  ต้องตรวจแปลงอย่างละเอียด เพื่อติดตามดูแมลงพาหะ เพื่อกำหนดตารางการฉีดพ่นสารเคมี ความถี่ในการฉีดพ่น อาจจะต้องมากกว่า การป้องกันแมลงศัตรพืช ตามปกติ

การเลือกสารเคมี ก็มีความสำคัญยิ่ง ต้องเลือกสารเคมีที่ประสิทธิภาพ ออกฤทธิ์เร็ว แต่ต้องไม่เป็นปัญหาในเรื่องสารเคมีตกค้างบนผลผลิต โดยเฉพาะกับเกษตรกร ที่ผลิตกระเจี๊ยบเขียวเพื่อการส่งออก ตารางค่ากำหนดสูงสุดสำหรับกระเจี๊ยบเขียวในประเทศญี่ปุ่น น่าจะเป็นแนวทางสำหรับให้เกษตรกรเลือก หรือใช้อย่างระมัดระวัง

 

เรียบเรียงโดย  สุจินต์ จันทรสอาด ที่ปรึกษาศูนย์แนะนำแก้ปัญหาการปลูกพืช VANIDA KASET (www.vanidakaset.com)

 

เอกสารที่ใช้อ้างอิงข้อมูล

  • Plant virus and insects, W. Hunter, USDA, Florida.
  • A guide for diagnosis and detection of quarantine pests, Indian cottone jassid, Islamic Republic of Iran, 2015.
  • Biotechnological advancements and begomovirus management in okra : status and perspective, G. Mishra et al., Frontiers in Plant Science, 2017.
  • Yellow Vein Mosaic Disease of Okra: A Recent Management Technique, A. Kumar et al., International Journal of Plant & Soil Science, 2017
  • การประเมินการเกิดโรคและแมลงศัตรูพืชของกระเจี๊ยบเขียวในภาคใต้ของประเทศไทย สรพงค์ เบญจศรี วารสารวิชาการพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปีที่ 22 ฉบับที่ 1 ม.ค. - เม.ย. 2555: 285-288 (2559)

***************************

18 กันยายน 2561

ผู้ชม 17399 ครั้ง

Engine by shopup.com