ด้วงเต่าแตงแดงในพืชตระกูลแตง
ด้วงเต่าแตงแดงในพืชตระกูลแตง
ด้วงเต่าแตงแดงในพืชตระกูลแตง
หากเกษตรกรท่านไหนกำลังปลูกพืชตระกูลแตงระวังการด้วงเต่าแตงกันด้วยนะคะ เพราะด้วงตัวนี้ชอบกินพืชตระกูลแตงมาก เรามาทำความรู้จักกับเจ้าด้วงตัวนี้กันค่ะ
ด้วงเต่าแตง เป็นแมลงปีกแข็งสีแดงแสด จะมีสีของลำตัว 2 สี คือ ชนิดสีดำ ( Aulacopphola frontalis Baly) และเต่าแตงชนิดสีแดง (Aulacopphola semilis Oliver) เคลื่อนไหวช้า มักผสมพันธุ์กันเป็นคู่ๆ อยู่บนใบ ตัวเต็มวัยจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยวหรือกลุ่มเล็กๆอยู่ในดิน ตัวหนอนอาศัยอยู่ในดินกัดกินรากพืช เมื่อเข้าดักแด้จะอยู่ในดินเช่นกัน ตัวเต็มวัยมีความยาว 7-8 มม. มีอายุถึง 100 วัน หรือมากกว่า
วงจรชีวิต ระยะไข่ 8-15 วัน เพศเมียวางไข่ฟองเดี่ยว หรือเป็นกลุ่มใกล้โคนต้นแตงระยะตัวอ่อน 18-35 วัน อาศัยอยู่ใต้ดิน กัดกินรากพืช ระยะตัวหนอน หลังจากฟักออกจากไข่มีสีเหลือง แล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีส้ม เป็นอันตรายต่อรากแตงในระยะต้นอ่อน ระยะดักแด้ 4-14 วัน เข้าดักแด้ในดิน ตัวเต็มวัยเป็นแมลงปีกแข็งมีทั้งสีแดง และสีน้ำตาล
แมลงศัตรูพืช ด้วงเต่าแตงแดงจัดเป็นแมลงศัตรูพืชชนิดหนึ่งซึ่งมักจะทำลายพืชตระกูลแตง ตัวเต็มวัย ตัวอ่อนจะกัดกินใบ และดอกของพืช โดยกัดใบให้เป็นวงก่อน จากนั้นจึงกินส่วนที่อยู่ในวงจนหมดเกิดเป็นรูๆตามใบ บางครั้งกัดกินบริเวณโคนต้นทำให้เกิดเป็นแผล นอกจากนี้เต่าแตงยังสามารถเป็นพาหะของเชื้อไวรัสได้อีกด้วย พบการระบาดแทบทุกฤดูกาล โดยเฉพาะในช่วงที่แตงเริ่มแตกใบจริง
แนวทางการป้องกันและกำจัด
- วิธีกล การจับทำลายด้วยมือจะช่วยได้มาก โดยหมั่นดูสวนในเวลาเช้าแดดยังไม่จัด ขณะเดียวกันภายหลังการเก็บเกี่ยวผล เสร็จแล้ว ควรถอนทำลายต้น ทิ้ง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของด้วงเต่าแตงแดงต่อไป
- ใช้ชีวภัณฑ์เมตาไรเซียมชนิดสด อัตรา 1 กก.ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือชนิดผง อัตรา 80-100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร เลือกฉีดพ่นเวลาเย็นความชื้น 60% ขึ้นไป หลีกเลี่ยงแสงแดดจัดๆ
- ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัด เช่น อิมิดาโคลพริด 10 % SL อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5 % SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์บาริล 85 % WP อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
Data reference : Pisuth EK-AMNUAY 2019 Diseases and pests of economic importance 7th Edition
Photos reference : http://www.pestnet.org/
27 เมษายน 2564
ผู้ชม 12967 ครั้ง