ปัญหาเพลี้ยไฟในมะม่วง [Credit: vanidakaset.com]
ปัญหาเพลี้ยไฟในมะม่วง [Credit: vanidakaset.com]
เพลี้ยไฟในมะม่วง
เพลี้ยไฟ เป็นแมลงศัตรูพืชที่มีความสำคัญมากที่สุดในการผลิตมะม่วง เพราะเพลี้ยไฟเข้าทำลาย ยอดอ่อนใบอ่อน ช่อดอก ผลอ่อน ทำให้เกิดความเสียมากต่อการผลิตมะม่วง ทำให้ยอดที่แตกออกมาใหม่ของมะม่วงไม่สมบรูณ์ การผลิตช่อดอกก็ลดลงตามไปด้วย ช่อดอกที่ถูกเพลี้ยไฟเข้าทำลายก็เสียหาย ไม่ติดผล ผลอ่อนที่ถูกเพลี้ยไฟทำลายก็จะทำให้ผิวของผลมะม่วงลาย ไม่ได้คุณภาพ ไม่ได้ราคาตามที่ตลาดต้องการ เพลี้ยไฟ จึงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเกษตร ดังที่สามคมชาวสวนมะม่วงไทย ได้เสนอ ปัญหาและความต้องการของชาวสวนมะม่วงไทย ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตรเข้ามาช่วยเหลือ หนึ่งในปัญหานั้น คือ เพลี้ยไฟ ซึ่งเกษตรกรชาวสวนเกือบทั้งหมด ยังขาดความรู้เรื่องเพลี้ยไฟและการแก้ไขอย่างทันเหตุการณ์ ทำให้เกษตรกร ต้องลงทุนในการจัดการศัตรูพืช มากขึ้น ดังนั้น บทความทางวิชาการ นี้ จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเพลี้ยไฟและเสนอแนะแนวทางแก้ไขให้เกษตรกร
ชีวิตและชนิดของเพลี้ยไฟ
เพลี้ยไฟ เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมากจนมองได้ไม่ชัดเจนและอาจสังเกตได้ยากในระยะที่เพลี้ยไฟเริ่มปรากฏตัวบนต้นมะม่วง อีกทั้ง เพลี้ยไฟ มีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว จากไข่ไปสู่ตัวเต็มวัย ใช้เวลาสั้น โดยเฉพาะในเขตร้อน เช่น ประเทศไทย โดยทั่วไป วงจรชีวิต จากไข่เจริญไปเป็นตัวเต็มวัย ได้ภายใน 10-14 วัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ เพลี้ยไฟจึงเป็นแมลงที่เพิ่มปริมาณได้รวดเร็ว ในทางกีฏวิทยา เพลี้ยมีจำนวนชนิดมากมาย หลากหลายไปตามชนิดพืชอาศัยและแต่ละชนิดพืชอาศัย ก็อาจมีเพลี้ยไฟหลายชนิดปนกัน เช่นเพลี้ยไฟในมะม่วง มีรายงานว่า พบเพลี้ยไฟบนช่อดอกมะม่วง มากถึง 4 ชนิด แตกต่างชนิดกันไปตามท้องที่ ในประเทศไทย นักวิชาการกรมวิชาการเกษตร ก็เคยรายงานว่ามีเพลี้ยไฟ มากมายหลายชนิด เช่นเดียวกัน
พฤติกรรมการดำรงชีวิตของเพลี้ยไฟ
แม้ว่า เพลี้ยไฟ จะมีจำนวนชนิดที่แตกต่างกันมากมาย แต่พฤติกรรมโดยทั่วไปจะคล้ายคลึงกัน คือ เป็นแมลงที่ชอบซ่อนอยู่ในที่หลบเร้น มองเห็นยาก เช่น วางไข่ใต้ผิวใบ ภายในช่อดอก บนตาใบที่กำลังจะผลิยอดใหม่ บนตาดอกและภายในช่อดอก หลบเลี่ยงแสงแดดเวลาที่ไม่กินอาหาร การสังเกตเพลี้ยไฟในระยะเริ่มเข้าทำลายจึงยาก จะเห็นได้ก็ต่อเมื่อเกิดความเสียหายต่อต้นพืช ทำให้การควบคุม มักช้าไป หรือไม่ทันการณ์ เพราะเพลี้ยไฟ เจริญเติบโตได้รวดเร็ว ภายในระยะเวลาอันสั้น
การทำลายและความเสียหายจากเพลี้ยไฟ
เพลี้ยไฟ จะดูดกินนำเลี้ยงบนผิวเนื้ออ่อนของพืช (tender tissue) ทำให้เกิดแผลเนื้อเยื่อฉีดขาด ใบม้วนงอ เสียรูปทรง ช่อดอกเหี่ยวแห้งและดอกร่วง ไม่ติดผล การทำลายบนผลอ่อน เพลี้ยไฟ จะดูดกินเนื้อของผล ทำให้ผิวเปลือกของผล มีรอยแผลเป็น ติดไปจนถึงผลแก่ รวมทั้งทำให้ผลมะม่วงเสียรูปทรง ทำให้ผลมะม่วงเมื่อเก็บเกี่ยว เสียคุณภาพตลาด ขายไม่ได้ราคา
การจัดการควบคุมเพลี้ยไฟ
ด้วยเหตุที่เพลี้ยไฟ มีนิสัยและพฤติกรรมพิเศษเฉพาะตัว ดังกล่าวข้างต้น อีกทั้ง เพลี้ยไฟ ยังเป็นแมลงที่เล็กมากเป็นกลุ่มแมลงที่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว การควบคุมหรือกำจัดเพลี้ยไฟ จึงยากกว่าแมลงศัตรูพืชอื่นๆอีกหลายชนิด การกำหนดยุทธวิธีในการควบคุมเพลี้ยไฟ จึงต้องละเอียด คือ 1. กำหนดเวลาฉีดพ่นสารเคมีให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่เพลี้ยไฟชอบเข้าทำลาย ตามข้อมูลดังกล่าวข้างต้น 2. ต้องเลือกสารเคมีให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพกำจัดเพลี้ยไฟได้ดี แม้ว่า คุณสมบัติของสารเคมีหลายๆชนิด ระบุว่า มีฤทธิ์ฆ่าเพลี้ยไฟได้ แต่ผลจากงานวิจัย พบว่า เพลี้ยไฟ มีปัญหาเรื่องการ “ดื้อยา” ต่อสารเคมีหลายกลุ่ม การเลือกสารเคมีและกำหนดโปรแกรมการฉีดพ่นให้เหมาะสม จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
ปัญหา เพลี้ยไฟ ดื้อยา เป็นเรื่องสำคัญมากในต่างประเทศ มีการศึกษาวิจัย มากมาย และข้อมูลเหล่านั้น ก็นำมาสู่คำแนะนำการจัดการศัตรูพืช อย่างแพร่หลาย ดังตัวอย่างข้างล่างนี้
สารฟิโพรนิล (Fipronil)
จากข้อมูลด้านการ ดื้อยา ของเพลี้ยไฟ ข้างต้น จะเห็นได้ว่า เพลี้ยไฟ สามารถพัฒนาต่อต้านฤทธิ์ของสารเคมีหลายกลุ่ม ตั้งแต่สารเคมีรุ่นเก่า มาจนถึงสารเคมีรุ่นใหม่ๆ ส่วนสารฟิโพรนิล พบว่า การดื้อยา ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าสารอื่นๆ จึงเป็นสารเคมี ที่น่าสนใจในการนำมาใช้กำจัดเพลี้ยไฟ หรือนำมาใช้เป็นสารหลัก สลับกับสารกลุ่มอื่น เพื่อการจัดการต้านการดื้อยา (Insecticide Resistance Management : IRM)
จากการทดสอบสารฟิโพรนิล (ชื่อการค้า เกรท 5 เอสซี) ในสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ที อ. ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ในปี 2555 พบว่า สารฟิโพรนิล สามารถควบคุมการระบาดของเพลี้ยไฟ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดความเสียหายจากการทำลายของเพลี้ยไฟบนต้นมะม่วงลงได้อย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่พ่นสารเคมี
ทำการทดสอบหาอัตราที่เหมาะสม ของสารฟิโพรนิล 3 อัตรา คือ 10, 15, 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร
ข้อคิดเห็นท้ายเรื่อง
การกำหนดระยะเวลาการฉีดพ่นสารเคมีได้ถูกต้อง การเลือกสารเคมีที่เหมาะสม และการใช้สารเต็มอัตรา จะส่งผลให้ป้องกันหรือควบคุมปัญหาศัตรูพืชได้ดี มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ากับการลงทุน ข้อมูลทั้งหมดทีนำเสนอมา น่าจะเป็นหนทางช่วยเกษตรกรชาวสวนมะม่วง ได้ตามที่ต้องการ
เรียบเรียงโดย สุจินต์ จันทรสอาด ที่ปรึกษาศูนย์แนะนำแก้ปัญหาการปลูกพืช VANIDA KASET (www.vanidakaset.com)
เอกสารที่ใช้อ้างอิงข้อมูล
- อนุกรมวิธานแมลงศัตรูพืชที่พบในเบญจมาศ ชลิดา อุณหวุฒิและคณะ รายงานความก้าวหน้า 2552 กรมวิชาการเกษตร
- หลักการจัดการเพลี้ยไฟที่ถูกต้อง สุเทพ สหายา จดหมายข่าว สมาคมชาวสวนมะม่วงไทย 8(23) 2560
- Management Strategies for Western Flower Thrips and the Role of Insecticides, Reitz and Funderburk, Insecticides – Pest Engineering
- Red-banded thrips on fruit trees (Selenothrips rubrocinctus), Brown and D. Chin*, Plant Industries, Darwin, 2013
- Record of thrips om mango, Krishnamoorthy and P.N. Ganga Visalakshi, Hortl. Sci. Vol. 7(1):110-111, 2012
- Thrips in Southeast Asia, Proceedings of a regional consultation workshop, Bangkok, Thailand, 1991
- Western flower thrips resistance to insecticides :detection and management strategies, Yulin Goa et.al. Pest Manag Sci (2012)
- IRAC Mode of Action Classification Scheme, version 8.2, IRAC 2017
***************************
18 กันยายน 2561
ผู้ชม 22293 ครั้ง