เพลี้ยไฟกับปัญหาการ “ดื้อยา”
เพลี้ยไฟกับปัญหาการ “ดื้อยา”
เพลี้ยไฟกับปัญหาการ “ดื้อยา”
จากคำถามของเกษตรกรในวารสาร เคหการเกษตร ฉบับประจำเดือน ตุลาคม 2561 ซึ่งเกษตรกรให้ข้อมูลว่า “เพลี้ยไฟ ไรแดง ดื้อยา ในสตรอเบอร์รี่ ขอคำแนะนำในการเลือกใช้สารเคมีป้องกันกำจัด เพลี้ยไฟ เนื่องจากทดลองใช้สารเคมีที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างโปรวาโดและเอ็กซอล มาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ผล อยากทราบว่าจะใช้สารเคมีกลุ่มใดได้อีกบ้าง” คำถามนี้ มีความสำคัญยิ่งต่อเกษตรกร เพราะเกษตรกรมีความเข้าใจว่า สารเคมีที่ใช้อยู่นั้น “ดื้อยา” แล้วสำหรับเพลี้ยไฟ ไม่สามารถใช้ได้ ต้องหารสารเคมีใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ซึ่งในความเป็นจริง การจะหาสารเคมีใหม่ๆ เป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นๆ และอีกประเด็นหนึ่ง คือแมลงศัตรูนั้น “ดื้อยา” จริง หรือไม่ ? “การดื้อยา” คือ อะไร? เราจึงควรจะให้ความสนใจกับคำถามของเกษตรกรรายนี้ เพราะเป็นปัญหาพื้นฐานของเกษตรกรทั่วไป ไม่เพียงแต่เป็นปัญหากับเกษตรกรรายที่ถามปัญหาไปทางวารสารเคหเกษตร เท่านั้น และเนื่องจากฝ่ายวิชาการของ บริษัท ลัดดากรุ๊ป ได้เคยทำแปลงทดสอบสาธิตการป้องกำจัดศัตรูพืชในสตรอเบอร์รี่ ในช่วงระหว่าง ปี 2559-2560 และมีข้อมูลยืนยันผลการทดสอบ โดยเฉพาะกับการควบคุมเพลี้ยไฟ จึงอยากจะนำรายละเอียดของการทดสอบ มานำเสนอในบทความนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรทั่วไป
ปัญหาเพลี้ยไฟในสตรอเบอร์รี่
เพลี้ยไฟ เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญมากชนิดหนึ่งในแปลงปลูกสตรอเบอร์รี่ เพราะเพลี้ยไฟ จะทำให้ต้นสตรอเบอร์รี่ ชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และผลสตรอเบอร์รี่ เสียคุณภาพ ปัญหาเพลี้ยไฟจึงเป็นปัญหาใหญ่ในการผลิตสตรอเบอร์รี่ของเกษตรกร
จากรูปภาพข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า เพลี้ยไฟ สามารถเข้าทำลายต้นสตรอเบอร์รี่ ได้ทุกระยะการเจริญเติบโต โดยธรรมชาติของเพลี้ยไฟ จะดูดกินน้ำเลี้ยงภายในเนื้อเยื่อของพืช ดังนั้น เพลี้ยไฟจึงชอบเข้าทำลาย ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกและผลอ่อน และเนื่องจาก เพลี้ยไฟ มีขนาดเล็กมาก มีนิสัยชอบหลบซ่อนในที่เร้นลับ ทำให้สังเกตเห็นเพลี้ยไฟได้ยาก แต่เกษตรกร ก็พอสังเกตได้ ตามรูปข้างต้น การพยายามสังเกตให้เห็นตัวเพลี้ยไฟ จะมีความสำคัญมากต่อการวางแผนการป้องกันกำจัด
ข้อควรตระหนักสำหรับเกษตรกร คือ เพลี้ยไฟ มีวงจรชีวิตสั้น แพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว การป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ จึงต้องทำอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เพลี้ยไฟ เริ่มเข้าทำลาย คือ เมื่อต้นพืชเริ่มแตกยอดอ่อน-ใบอ่อน และต้องทำต่อเนื่องในระยะแรก เพื่อควบคุมปริมาณเพลี้ยไฟให้ได้ ตั้งแต่ต้น มิฉะนั้น ประชากรเพลี้ยไฟ จะเพิ่มขึ้นๆ และผสมปนเปกันทุกระยะการเจริญเติบโตของเพลี้ยไฟ ทั้ง ไข่ ตัวอ่อน ตัวเต็มวัย การควบคุมก็จะยากขึ้นๆ
ปัญหาเพลี้ยไฟกับ การดื้อยา
มีสารเคมีอยู่มากมายในท้องตลาด ที่มีคุณสมบัติออกฤทธิ์กำจัดเพลี้ยไฟได้ แต่ปัญหา “การดื้อยา” (Pesticide Resistance) ของเพลี้ยไฟ ก็เป็นปัญหาใหญ่ในวงการเคมีเกษตรทั่วโลก เพราะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการป้องกันกำจัดและเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจสูง ดังนั้น นักวิชาการจึงให้ความสำคัญกับ “การดื้อยา” เป็นอย่างมาก มีงานวิจัยทดสอบ ติดตามการพัฒนาการดื้อยา ของศัตรูพืชต่างๆ ตลอดเวลาในต่างประเทศ และ เพลี้ยไฟ ก็เป็นหนึ่งในแมลงศัตรูพืชที่มีการรายงาน การดื้อยา จำนวนมากมาย เพราะ เพลี้ยไฟ เป็นศัตรูพืชที่สำคัญในการเกษตรทั่วโลก
“การดื้อยา” คือ อะไร? คำอธิบายในเชิงวิชาการ คือ การที่แมลงศัตรูสามารถเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในตัวเองให้มีความทนทานต่อพิษของสารเคมีนั้นๆได้ หรือ กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ การใช้สารเคมีซ้ำๆไปเรื่อยๆ จะได้ผลลดลงจากทีเคยได้รับในครั้งแรก ดังรูปเปรียบเทียบ
ในทางวิชาการ การจะวัดได้ว่า เกิดการดื้อยาของแมลงหรือไม่? จะต้องใช้นักวิชาการที่มีความชำนาญและใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการ เป็นเครื่องยืนยันเท่านั้น นักวิชาการ จึงมีข้อเตือนว่า ถ้าเกษตรกรเริ่มตรวจพบว่าการใช้สารเคมีที่เคยใช้ เริ่มได้รับผลน้อยลง หรือ การป้องกันกำจัด ชักเริ่มไม่ค่อยได้ผลดี อย่ารีบด่วนสรุปว่า เกิดการดื้อยา จนกว่าจะได้ปรึกษากับนักวิชาการก่อน เพราะในระดับแปลงปลูกพืช อาจมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีกหลายประการ ที่เกษตรกร ต้องตรวจสอบก่อน เช่น
- ความผิดพลาดในการใช้ อาจเกิดจาก อัตราถูกต้องไหม ? ระยะเวลาที่ใช้เหมาะสมไหม ? จำนวนครั้งที่ใช้ถูกต้องตามคำแนะนำของแต่ละสารเคมี หรือไม่ ?
- เครื่องมือในการฉีดพ่น อยู่ในสภาพดีไหม? ปริมาณน้ำที่ใช้เหมาะสมไหม ? การฉีดพ่นทั่วไหม ?
- สภาพแวดล้อมของการฉีดพ่น เช่น หลังฉีดพ่น มีฝนตก หรือมีการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ ไหม ? อุณหภูมิสูง ลมแรง ไหม ?
ความผิดพลาด อย่างใด อย่างหนึ่ง อาจนำไปสู่การไม่ได้ผล หรือประสิทธิภาพในการกำจัดศัตรูพืชลดลงจากที่เคยเป็น ซึ่งอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดว่าเกิดการ “ดื้อยา” ดังนั้น การยกตัวอย่างของจริงจากแปลงทดสอบ จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ได้ทบทวนความเข้าใจในหลักการ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช
การทดสอบการใช้สารเคมี กำจัดเพลี้ยไฟในสตรอเบอร์รี่
การทดสอบมีวัตถุประสงค์ เพื่อสาธิตการป้องกันกำจัดศัตรูพืชในสตรอเบอร์รี่ ให้มีประสิทธิภาพดีและประหยัดต้นทุน ซึ่งเพลี้ยไฟ เป็นแมลงศัตรูเป้าหมายในสตรอเบอร์รี่ ชนิดหนึ่งที่สำคัญมากในการผลิตสตรอเบอร์รี่สำหรับเกษตรกร หลักการที่ใช้ในแปลงทดสอบสาธิต ตามลำดับขั้นตอนต่อไปนี้
- ตรวจสอบชนิดของศัตรูพืชก่อนการฉีดพ่นสารเคมี
- เลือกสารเคมีที่เหมาะสมต่อชนิดของศัตรูพืช หรือมีประสิทธิสูงต่อศัตรูพืช แต่ละชนิด
- ใช้อัตราเต็มตามที่มีการแนะนำ
- เริ่มฉีดพ่นให้เร็วที่สุด เมื่อเริ่มพบศัตรูพืช
- ฉีดพ่นให้ต่อเนื่อง จนเห็นผล หรือแมลงศัตรูลดลงอย่างชัดเจน หลังจากนั้น อาจสลับสารเคมีต่างกลุ่ม เพื่อป้องกันการดื้อยา
- เว้นระยะห่างการฉีดพ่น อย่างน้อย 5-7 วัน ต่อ ครั้ง หยุดหรือหลีกเลี่ยงการฉีดพ่นในระยะเก็บเกี่ยว เพื่อลดความเสี่ยง สารเคมีตกค้างบนผลผลิต
จากหลักการ ดังกล่าวข้างต้น จัดทำโปรแกรมการฉีดพ่นในแปลงทดสอบ จำนวน 2 แปลง ต่างพันธุ์สตรอเบอร์รี่ ต่างสถานที่และต่างรายเกษตรกร เริ่มตั้งแต่หลังปลูกไหลสตรอเบอร์รี่ เปรียบเทียบกับการปฏิบัติตามปกติของเกษตรกร จะเห็นความแตกต่างในโปรแกรมการฉีดพ่นระหว่าง แปลงทดสอบสาธิต กับแปลงเกษตรกร ดังตารางเปรียบเทียบ
ข้อแตกต่างระหว่างโปรแกรมการใช้สารเคมีของแปลงทดสอบ กับแปลงเกษตรกร
- เกษตรกร จะเริ่มฉีดพ่นสารเคมีช้ากว่าแปลงทดสอบ ประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งเป็นเวลานานพอที่เพลี้ยไฟ จะเจริญเติบโตได้ครบวงจรชีวิตและเพิ่มปริมาณได้มาก
- แปลงทดสอบ ทั้ง 2 แปลง มีการเว้นระยะฉีดพ่น สม่ำเสมอ เพราะก่อนฉีดพ่นแต่ละครั้ง จะตรวจสอบศัตรูพืชก่อนตัดสินใจฉีดพ่น ต่างจากแปลงเกษตรกร การเว้นระยะฉีดพ่น ไม่สม่ำเสมอ บางช่วงเว้นนานเกินไป
- ในแปลงทดสอบที่ 2 แม้ว่า เกษตรกร จะมีการใช้สารเคมีประสิทธิภาพสูง ราคาแพง แต่การใช้ไม่ต่อเนื่อง มีการสลับกับสารอื่นๆ ที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนัก
ผลการทดสอบสาธิตในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ
เมื่อทำการประเมินผลการควบคุมการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟในแปลงทดสอบทั้ง 2 แปลง พบว่า แปลงทดสอบสาธิต ทั้ง 2 แปลง ให้ผลในการควบคุมการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ ได้ดีกว่า แปลงเกษตรกร
สารฟิโพรนิล (Fipronil)
จากรายงานวิจัยด้านการ ดื้อยา ของเพลี้ยไฟ พบว่า เพลี้ยไฟ สามารถพัฒนาต่อต้านฤทธิ์ของสารเคมีได้หลายกลุ่ม ตั้งแต่สารเคมีรุ่นเก่า มาจนถึงสารเคมีรุ่นใหม่ๆ ส่วนสารฟิโพรนิล พบว่า การดื้อยา ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าสารอื่นๆ จึงเป็นสารเคมี ที่น่าสนใจในการนำมาใช้กำจัดเพลี้ยไฟ หรือนำมาใช้เป็นสารหลัก สลับกับสารกลุ่มอื่น เพื่อการจัดการต้านการดื้อยา (Insecticide Resistance Management : IRM)
จากการทดสอบสารฟิโพรนิล (ชื่อการค้า เกรท 5 เอสซี) ในหลายๆพืช เพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ พบว่า สารฟิโพรนิล สามารถควบคุมการระบาดของเพลี้ยไฟ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดความเสียหายจากการทำลายของเพลี้ยไฟได้อย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สารเคมีอื่นๆ
ข้อคิดเห็นท้ายเรื่อง
จากการทดสอบสาธิตการป้องกันกำจัดศัตรูพืชในสตรอเบอร์รี่ ครั้งนี้ โปรแกรมการฉีดพ่นในแปลงสาธิต ให้ผลในการควบคุมเพลี้ยไฟ ได้ดีกว่า แปลงเกษตรกร และสามารถลดจำนวนครั้งการฉีดพ่นลงได้ 16-25% ความจริง แปลงเกษตรกร ก็สามารถควบคุมการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟได้ระดับหนึ่ง จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่า ประชากรเพลี้ยไฟในพื้นที่ปลูกสตรอเบอร์รี่ มีการดื้อยา หรือไม่? เพราะไม่ได้เก็บตัวอย่างแมลงมาทำการวิเคราะห์ตามหลักวิทยาศาสตร์ ตามที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้น เหตุผลที่แท้จริงจากแปลงเกษตรกร ได้ผลในการควบคุมการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ ได้ต่ำกว่าแปลงทดสอบสาธิต น่าจะเป็น ระยะเวลาที่เริ่มมีการฉีดพ่นสารกำจัดเพลี้ยไฟ ช้ากว่าแปลงทดสอบ ความต่อเนื่องในการฉีดพ่นสารเคมีแต่ละชนิด ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้สารเคมีแต่ละชนิดออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น รูปแบบ วิธีการ การใช้สารเคมี ดังได้กล่าวมาทั้งหมด น่าจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร ได้กลับไปทบทวนวิธีการที่เคยปฏิบัติ เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาต่อไป
ประการสำคัญที่สุด การรู้จักชีวิตของศัตรูพืช รู้จักสารเคมีที่จะใช้ ใช้อย่างถูกวิธี นอกจากจะสามารถลดการใช้สารเคมีลงได้แล้ว ยังทำให้ได้ผลผลิตดี มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งก็คือ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ นั่นเอง
เรียบเรียงโดย สุจินต์ จันทรสอาด ที่ปรึกษาศูนย์แนะนำแก้ปัญหาการปลูกพืช VANIDA KASET (www.vanidakaset.com)
เอกสารที่ใช้อ้างอิงข้อมูล
- Field-evolved resistance to insecticides in the invasive western flower thrips Frankliniella occidentalis (Pergande) (Thysanoptera: Thripidae) in China, Ze-Hua Wang et al, Pest Management Science, 2015
- Resistance and Resistance Management Bennett, IRAC 2012
- High-level of resistance to spinosad, emamectin benzoate and carbosulfan in populations of Thrips tabaci collected in Israel Galina Lebedev et al., Pest Management Science, 2013
- Resistance: The Facts - History & overview of resistance IRAC.
- Efficacy of Spinetoram Against Thrips (Thysanoptera: Thripidae) in Seedling Cotton, Gossypium hirsutum L. Melissa Willrich Siebert et al, Journal of Cotton Science 20:309–319 (2016)
- Evaluation of Insecticides against the Western Floower Thrips, FRANKLINIELLA OCCIDENTALIS (THYSANOPTERA: THRIPIDAE), in the Laboratory, C. Shan et al, Florida Entomologist 95(2), 2012
- Western flower thrips resistance to insecticides : detection and management strategies, Yulin Goa et.al. Pest Manag Sci (2012)
***************************
07 พฤศจิกายน 2561
ผู้ชม 4862 ครั้ง