ชีวิตลึกลับของเชื้อโรคไฟทอปธอราในทุเรียน

หมวดหมู่: บทความ

 

ชีวิตลึกลับของเชื้อโรคไฟทอปธอราในทุเรียน

          หลังจากที่ศูนย์แนะนำการแก้ปัญหาการปลูกพืช วนิดาเกษตร   ได้เสนอบทความเกี่ยวกับโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน ซึ่งเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ที่เรียกว่า ไฟทอปธอรา (Phytophthora spp.) พร้อมกับเสนอผลการทดสอบการแก้ปัญหาโรคนี้ออกไปเมื่อกลางเดือนกันยายน 25561 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้เข้ามาดูบทความนี้ เป็นจำนวนมากและมีต่อเนื่องทุกวัน จนถึงปัจจุบัน ทำให้ทางศูนย์ฯ คิดว่า ปัญหาโรคไฟทอปธอราในทุเรียนนี้ เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน และเป็นปัญหาที่เกษตรกรยังแก้ไม่ตก แม้ว่าจะมีคำแนะนำต่างๆออกไปมากมายหลายวิธี ซึ่งคงจะยืนยันได้จากรายงานข่าวของสำนักข่าวท้องถิ่นแห่งหนึ่งในจังหวัดตราด ( ผู้สื่อข่าวภูมิภาค สำนักข่าวทีนิวส์ จังหวัดตราด รายงานเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้คือ

 

          จากรายงานข่าวดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาโรครากเน่าโคเน่าในทุเรียนเป็นปัญหาที่ยังเป็นเรื่อง “ลึกลับ” สำหรับเกษตรกร และวิธีการรักษาต่างๆที่ทำมาไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงเรียกร้องให้ทางราชการเข้ามาช่วยวิเคราะห์ว่า “โรคทุเรียนที่เป็นอยู่เป็นโรคอะไรและจะใช้วิธีการรักษาแบบใด” 

          ซึ่งในบทความของทางศูนย์ฯ ในเดือนกันยายน 25560  ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเชื้อโรคไฟทอปธอรา ไว้บ้างแล้ว แต่ด้วยความคิดที่ว่า การเขียนเป็นวิชาการมากเกินไป อาจจะไม่เป็นที่สนใจสำหรับเกษตรกร แต่เมื่ออ่านรายงานของสื่อท้องถิ่นแล้ว ทำให้เกิดความคิดว่า เกษตรกรในปัจจุบันนั้น ต้องการข้อมูล ต้องการความรู้เพื่อการพัฒนาอาชีพ ซึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับเชื้อโรคนี้ มีวิถีชีวิต (ไลฟ์สไตล์) ที่ออกจะลึกลับกว่าเชื้อโรคอื่นๆ อีกหลายชนิดที่เกิดกับต้นทุเรียนหรือพืชอื่นๆ  ดังนั้น บทความนี้ จึงอยากพูดถึงวิถีชีวิตของเชื้อโรคไฟทอปธอรา ให้ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก แต่ก็จะพยายามหลีกเลี่ยงคำศัพท์วิชาการที่ไม่จำเป็นออกไปให้มากที่สุด และคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร ดังต่อไปนี้

 

ชีวิตของเชื้อไฟทอปธอรา

          เชื้อไฟทอปธอรา เป็นจุลินทรีย์ที่มีขนาดเล็ก เล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า การศึกษาชีวิตของเชื้อโรคประเภทนี้จึงต้องใช้เครื่องมือพิเศษ จึงจะทำให้เข้าใจวิถีชีวิตของเชื้อได้ ซึ่งเชื้อในกลุ่มที่เรียกว่า ไฟทอปธอรา แต่เดิมนักวิทยาศาสตร์ ก็จัดให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับ เชื้อรา แต่ความรู้ในปัจจุบัน พบว่า เชื้อไฟทอปธอรา มีชีวิตและไลฟ์สไตล์ ที่แตกต่างออกไปจากเชื้อรามาก จึงได้มีการจำแนกออกมาเป็นอีกกลุ่มที่ต่างจากเชื้อรา หรืออยูในอีกอาณาจักรหนึ่ง เรียกว่า กลุ่มโอโอไมซีส (oomycetes) ซึ่งยังไม่มีชื่อเรียกในภาษาไทยอย่างเป็นทางการ 

          โรคที่เกิดจากเชื้อไฟทอปธอราเข้าทำลายที่รากของต้นไม้ผลยืนต้น นั้น พบว่าเกิดได้ทั่วโลก ในเขตหนาวมีรายงานว่า ต้นแอปเปิลก็เป็นโรครากเน่า ในเขตร้อนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในออสเตรเลีย ก็พบว่า ต้นทุเรียนเป็นโรครากเน่า ในทุกเขตที่ดินมีความชื้นแฉะ ฝนชุก การระบายน้ำไม่ดี มักพบการระบาดของโรครากเน่าในสวนผลไม้ทีเกิดจากเชื้อไฟทอปธอรา 

          อาการของโรคโดยทั่วไป คือ ใบเหลือง ใบร่วงหล่นจากต้น ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ต้นทรุดโทรม ลำต้นเป็นแผลช้ำสีน้ำตาลดำ (ลำต้นเน่า) และต้นพืชจะยืนต้นตายในที่สุด ดังอาการที่เกษตรกรได้กล่าวข้างต้น

 

          วงจรชีวิตของเชื้อไฟทอปธอรา มีความสลับซับซ้อน การเจริญเติบโตของเชื้อ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น (น้ำ) และสภาวะทางกายภาพและเคมี ปัจจัยเหล่านี้ มีผลต่อการเพิ่มปริมาณของเชื้อ การขยายพันธุ์และการเกิดโรคบนต้นพืช โดยเฉพาะส่วนที่แตกต่างจากเชื้อรา คือ เชื้อไฟทอปธอรา จะสร้างสปอร์ที่เรียกว่า ซูโอสปอร์ (zoospores) ไม่มีชื่อเรียกในภาษาไทย แต่อธิบายพฤติกรรมได้ว่า ซูโอสปอร์ นี้ เคลื่อนไหวได้ในตัวเองด้วย flagella (อาจเรียกว่า แส้ หรือ หนวด) และหนวดนี้ สามารถตอบสนองต่อแรงกระตุ้นจาก สารเคมี ปะจุกระแสไฟฟ้า (บวก-ลบ) ไดั จึงทำให้ซูโอสปอร์ เคลื่อนไหวเข้าหาเป้าหมายที่จะเป็นแหล่งอาศัย เช่น บริเวณปลายรากพืชที่มีการปล่อยสารเคมีออกมาเป็นสิ่งกระตุ้นให้ซูโอสปอร์ของเชื้อไฟทอปธอรา ว่ายน้ำเข้าหาผิวเนื้อเยื่อของรากแล้วเข้าทำลายภายในรากพืช ซึ่งก็เป็นความลับในทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่งในวิถีชีวิตของเชื้อไฟทอปธอรา

 

 

          การเคลื่อนย้ายของ ซูโอสปอร์ ขึ้นอยู่กับความชื้นในดิน ดังนั้น ดินที่แฉะ หรือชุ่มน้ำจะช่วยให้ ซูโอสปอร์ เคลื่อนย้าย (ว่ายน้ำ) ในดินได้อย่างอิสสระไปตามแผ่นฟิลม์ของน้ำ ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลอธิบายได้ว่า โรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน จึงมักพบรุนแรงในช่วงฤดูฝน

         ในหน้าฝน สภาวะจะเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไฟทอปธอรา แต่ในหน้าแล้ง พื้นดินแห้งน้ำล่ะ เชื้อไฟทอปธอราก็สามารถปรับตัวให้คงทน ดำรงชีวิตอยู่ได้ ด้วยการสร้างสปอร์ที่สามารถทนความแห้งแล้งและพักตัวในสภาพที่ยังไม่เหมาะสม เรียกว่า คลาไมโดสปอร์ (chlamydospores) ซึ่งก็ไม่ชื่อเรียกในภาษาไทยเช่นกัน นี่ก็เป็นความลึกลับ อีกอย่างหนึ่งของเชื้อไฟทอปธอรา คลาไมโดสปอร์ จะมีควาทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีกว่า ซูโอสปอร์ 

 

 

การจัดการและการควบคุมการแพร่กระจายของโรคไฟทอปธอราในทุเรียน

         จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น โรคที่เกิดจากเชื้อไฟทอปธอรา นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านเชื้อโรค ได้ให้คำแนะนำว่า “การป้องกัน” จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด สำหรับโรคที่เกิดจากเชื้อในดิน (หรือที่ทางวิชาการเรียกว่า soil-borne diseases of plants) การศึกษาพื้นฐานทั่วไป ชี้ให้เห็นว่า สถานะของ น้ำ-ดิน มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการสร้างซูโอสปอร์และการเข้าทำลายรากของต้นพืช

         เชื้อไฟทอปธอราที่เข้าทางรากของต้นทุเรียน นั้น เชื้อจะสามารถแพร่กระจายไปในระบบท่อน้ำของต้นทุเรียนส่งผลให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปทั้งต้น ตั้งแต่รากถึงยอดอ่อนบนสุดของต้น การที่เชื้อเข้าไปเจริญเติบโตในระบบท่อน้ำของต้นพืช ทำให้ระบบการเคลื่อนย้ายน้ำภายต้นพืชถูกทำลาย และการเคลื่อนย้ายอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆของต้นทุเรียนก็เสียตามไปด้วย ผล คือ อาการเหี่ยวของต้น อาการใบร่วงหล่นและต้นทรุดโทรมลงเรื่อยๆ จนยืนต้นตายในที่สุด ดังที่กล่าวมาข้างต้น 

 

 

ข้อคิดเห็นท้ายเรื่อง

           ข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับเชื้อไฟทอปธอราในบทความนี้ คงจะพออธิบายได้ว่า โรครากเน่าโคนเน่า ที่เกิดจากเชื้อไฟทอปธอรา ทำไมจึงรักษายากมากกว่าโรคอื่นๆ  ทำไมโรคจึงระบาดรุนแรงในช่วงฝนชุก โดยเฉพาะในปี 2560 ตามที่เกษตรกรให้ความเห็นกับสื่อท้องถิ่น ซึ่งเป็นปีที่มีฝนชุก  ข้อมูลวิถีชีวิตของเชื้อไฟทอปธอราในบทความนี้ ก็คงจะพออธิบายได้ว่า เชื้อไฟทอปธอรา เป็นเชื้อที่ชอบน้ำ หรือในอดีต เคยเรียกว่า ราน้ำ (water mold)

           ความสามารถพิเศษเฉพาะตัวของเชื้อไฟทอปธอราและวิถีชีวิตที่ลึกลับซับซ้อนของเชื้อไฟทอปธอรา ทำให้เชื้อกลุ่มนี้ มีความสามารถสูงในการเข้าทำลายต้นพืช และเชื้อกลุ่มนี้ มีถิ่นพำนักอยู่ในดิน ดำรงชีวิตอยู่ได้ในทุกสภาวะ จึงเป็นเสมือนเชื้อถาวรที่พบทั่วไปในดิน ทุเรียนพันธุ์ที่เรานิยมปลูก มักมีความอ่อนแอต่อเชื้อไฟทอปธอรา ดังนั้น ปลูกทุเรียนที่ไหน เมื่อไร ก็จะต้องเจอกับเชื้อไฟทอปธอรา แน่นอน และคงจะบอกไม่ได้ว่า ที่ไหนจะปลูกทุเรียนได้ ที่ไหน ปลูกไม่ได้ หนทางเดียว คือ ทำความรู้จัก พฤติกรรมของเชื้อไฟทอปธอรา ให้มากขึ้น และกำหนดยุทธวิธีในการควบคุมการระบาดของเชื้อให้ได้มากที่สุด

           ข้อมูลที่ให้เพิ่มเติมจากบทความก่อนหน้านี้ ในเรื่อง “โรคไฟทอปธอราในทุเรียน” ก็คงจะช่วยอธิบายได้ว่า ทำไม ฝ่ายวิชาการ ของบริษัท ลัดดา กรุ๊ปโฮลดิ้ง จึงนำวิธีการราดดินด้วยสารเคมี มาทำการทดสอบ และจำกัดการใช้ในระยะที่ต้นทุเรียนเริ่มแสดงอาการโรครากเน่าโคนเน่า ในระยะแรกเท่านั้น

           ความจริงเรื่องราวเกี่ยวกับเชื้อไฟทอปธอรา นั้น มีมากมายในต่างประเทศ แต่เขียนได้ยากในภาษาไทย ที่จะทำให้เข้าใจง่าย สำหรับเกษตรกร ซึ่งก็หวังว่า ความพยายามทั้งหมดที่เขียนมา คงจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร                      

 

เรียบเรียงโดย  สุจินต์ จันทรสอาด ที่ปรึกษาศูนย์แนะนำแก้ปัญหาการปลูกพืช VANIDA KASET (www.vanidakaset.com)

 

 

เอกสารที่ใช้อ้างอิงข้อมูล

  • Repeated Emergence, Motility, and Autonomous Dispersal by Sporangial and Porangial and Cyst Derived Zoospores of  Phtophthora spp., D.O. OTAYE, PhD thesis, Oklahoma State University, 2005
  • การจัดการโรคโคนเน่าและผลเน่าของทุเรียน (Durio zibethinus Murr.) ที่เกิดจากเชื้อรา Phytophthora palmivora (Butl.) Butl..ปัญจมา กวางติ๊ด วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) 2546
  • The role of chlamydospores of Phytophthora cinnamomi —a review Phytophthora palmivora, Species profile prepared by Timothy L. Widmer Forest Phytophthoras, 2014
  • Chemotaxis of Phytophthora sojae Zoospores to Soybean Roots is Altered by Kara RiggsIsoflavone Silencing Kara Riggs 2010
  • Phytophthora ramorum Colonizes Tanoak Xylem and Is Associated with Reduced Stem Water Transport. J. L. Parke et al, ecology and epidemiology, Vol. 97, No. 12, 2007
  • CHEMOTAXIS OF ZOOSPORES OF PHYTOPHTHORA CINNAMOMI TO ETHANOL IN CAPILLARIES OF SOIL PORE DIMENSIONSR. N. ALLENAND F. J. NEWHOOK, Br. mycol. Soc. 61 (2), 287-302 ( 1973)
  • Guidance of zoospores by potassium gradient sensing mediates aggregation, E. Galiana, bioRxiv preprint first posted online Nov. 18, 2018;

****************************************

01 กุมภาพันธ์ 2562

ผู้ชม 9906 ครั้ง

Engine by shopup.com