โรคแอนแทรคโนสในเขตร้อน

หมวดหมู่: บทความ

โรคแอนแทรคโนสในเขตร้อน

          โรคแอนแทรคโนส เป็นการเรียกชื่อโรคพืชตามภาษาฝรั่งว่า anthracnose ซึ่งมีรากคำศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ anthrax (อ่านว่า แอนแทรค แปลว่า ถ่านหิน) + nosos (อ่านว่า โนโซส แปลว่า โรค) มาผสมรวมกัน เป็นคำเรียกชื่อโรคที่เกิดกับต้นพืชว่า โรคแอนแทรคโนส (โรคที่มีลักษณะอาการเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลดำ เหมือนถ่านหิน) ซึ่งนักวิชาการ จัดว่าโรคแอนแทรคโนส เป็นโรคที่ทำความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรมากที่สุดทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนของโลก เพราะปัจจัยที่เชื้อโรคชอบ คือ อุณหภูมิค่อนข้างร้อนและความชื้นสูง เรียกว่า สภาพร้อน-ชื้น  ดังนั้น โรคแอนแทรคโนส จึงเป็นโรคพืชที่พบทั่วไปบนพืชมากมายหลายชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน พืชที่ถูกทำลายโดยโรคแอนแทรคโนส มีทั้ง พืชผัก พืชไร่ พืชสวนไม่ดอกไม้ประดับที่ปลูกในโรงเรือน และที่สำคัญ คือ พืชผลไม้เมืองร้อน

          ศูนย์แนะนำการแก้ปัญหาการปลูกพืช วนิดาเกษตร ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับโรคแอนแทรคโนสกับพืชบางชนิดผ่านทาง facebook และ youtube มาบ้างแล้ว แต่ด้วยเห็นความสำคัญของโรแอนแทรคโนสในพืชหลายชนิดที่เกษตรกรยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ หมายถึง เป็นยุทธวิธีที่สามารถประหยัดต้นทุน แต่ให้ผลดี คุ้มกับต้นทุนการผลิต ซึ่ง เรื่อง ต้นทุนการผลิต เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเกษตรกรไทยในปัจจุบัน ดังนั้น ในบทความนี้ จึงอยากจะรีวิวเกี่ยวกับเชื้อโรคและการใช้สารป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนส อย่างมีประสิทธิภาพ รวม ทั้งเรื่องการ “ดื้อยา” ที่มีความสำคัญมากต่อเกษตรกร แต่มักไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงมากนัก

 

เชื้อสาเหตุของการเกิดโรคแอนแทรคโนส

          นักวิชาการบอกว่า โรคแอนแทรคโนส มีสาเหตุเกิดจากเชื้อราสกุลหนึ่งที่เรียกชื่อทางวิชาการ (ไม่มีชื่อเรียกในภาษาไทย) ว่า เชื้อราคอลเลทโตตริกัม (Colletotrichum spp.) เชื้อราสกุลนี้ มีมากมายหลายชนิด (species)  หลากหลายสายพันธุ์ (strains)  ซึ่งแต่ละชนิด ก็จะชอบชนิดพืชที่แตกต่างกัน แต่ละสายพันธุ์ ก็จะมีความรุนแรงต่อการเกิดโรคแตกต่างกัน แต่กล่าวโดยรวม เชื้อราสกุลนี้ จะมีชีวิตพื้นฐานที่คล้ายคลึงกันหมด มีวิถีชีวิต (ไลฟ์สไตล์) ที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน ความสลับซับซ้อนในชีวิตของเชื้อราสกุลคอลเลทโคตริคัมนี้ นี่แหละ ที่ทำให้เกิดความซับซ้อนในการเกิดโรคด้วย คือ มีทั้งที่แสดงอาการให้เห็นด้วยสายตาและที่แฝงเร้นอยู่ภายในต้นพืช ไม่แสดงอาการเมื่อยังไม่เก็บเกี่ยวผล แต่จะแสดงอาการต่อเมื่อเก็บเกี่ยวผลแล้ว ซึ่งเกิดขึ้นกับผลไม้หลายชนิด ทำให้เกษตรกรเข้าใจผิด คิดว่าผลไม้ที่เก็บเกี่ยว สวยสมบรูณ์ ไม่เสียหาย ต่อเมื่อผ่านขบวนการบ่ม หรือระหว่างการขนส่งสู่ตลาด ผลไม้นั้น ก็จะเกิดอาการเน่าเสียหาย อย่างมากมาย

          เนื่องจากเชื้อราในสกุลคอลเลทโตตริกัม เป็นกลุ่มใหญ่ การจำแนกลงไปถึงชนิดย่อย หรือจนถึงสายพันธุ์ในแต่ละชนิด ก็เป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนเช่นกัน ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเท่านั้น จึงจะแยกได้ แต่งานเหล่านี้ ก็มีประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์ เพราะทำให้เราทราบกลไกการเกิดโรค การเปลี่ยนแปลงกลายพันธุ์ซึ่งนำไปสู่การ “ดื้อยา” แต่ก็คงจะเป็นความรู้ที่ลึกเกินไปสำหรับเกษตรกร สิ่งที่เกษตรกร ต้องการ คือ คำแนะนำว่า จะจัดการกับโรคนี้อย่างไร จะใช้วิธีไหนในการควบคุมโรคบนต้นพืช

          ความยุ่งยากและซับซ้อนในการจำแนกชนิดอย่างละเอียดของเชื้อราสกุลคอลเลทโตตริกัม นี้ ก็มีนักวิชาการไทยได้ทำการศึกษาวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศกันไว้บ้าง เช่น การเก็บตัวอย่างพืชหลายชนิดที่เป็นโรคแอนแทรคโนส คือ กล้วย ลำไย มะม่วงและ ถั่งเหลือง จากพื้นที่ต่างๆ พบว่า เชื้อรา คอลเลทโตตริกัม ชนิดเดียวกันแต่ต่างชนิดพืชที่เก็บตัวอย่างมาเพาะเชื้อ มีรูปร่างที่แตกต่างกัน ดังภาพข้างล่างนี้ 

วิถีชีวิต (ไลฟ์สไตล์) ของเชื้อราคอลเลทโตตริกัม

          เชื้อราสกุลคอลเลทโตตริกัม มีวิถีชีวิต หรือไลฟ์สไตล์ที่ซับซ้อนกว่าเชื้อราอื่นๆ เพราะเชื้ออาจมีพฤติกรรมเป็นเชื้อโรคที่ทำลายเนื้อเยื่อของพืชรุนแรง ทำให้เกิดแผลบนเนื้อเยื่อพืช หรือบางช่วงชีวิต เพียงอาศัยอยู่บนพืชนั้น โดยไม่ทำลายให้พืชอาศัยเสียหาย อาจทำให้เกิดความสับสนกับเกษตรกรผู้ปลูกพืช เพราะมองไม่เห็นความเสียหายบนต้นพืช หรือมีอาการโรคเข้าทำลายให้เห็น ต่อเมื่อเก็บผลผลิตแล้วจึงเกิดของโรค เช่น อาการผลเน่าของโรคแอนแทรคโนส บนผลมะม่วง ผลกล้วย เป็นต้น ทำให้มีการแบ่งปัญหาของโรค เป็น 2 แบบ คือ โรคที่เกิดก่อนเก็บเกี่ยว (pre-harvest diseases) และโรคที่เกิดหลังเก็บเกี่ยว(post-harvest diseases)

          เมื่อเกิดการแบ่งโรคออกเป็น 2 แบบ แล้วการจัดการโรค ควรจะเป็น ในส่วนก่อนเก็บเกี่ยว หรือ หลังเก็บเกี่ยว เป็นประเด็นสำคัญที่ควรจะแนะนำเกษตรกร เพื่อให้ผลการควบคุมหรือการกำจัดโรคที่ได้ผลดีที่สุด คำแนะนำทางวิชาการ เช่นในออสเตรเลีย แนะนำให้จัดการควบคุมโรคที่ดีที่สุด คือ จัดการควบคุมตั้งแต่ในแปลงปลูก ก่อนเก็บเกี่ยวผล เพราะ การจัดการใช้สารเคมีหลังเก็บเกี่ยว ไม่สามารถควบคุมโรคได้อย่างสมบรูณ์ การใช้สารเคมีหลังเก็บเกี่ยว ต้องใช้ตามหลัง การฉีดพ่นสารเคมีในแปลงก่อนเก็บเกี่ยวเท่านั้น

          ความจริงแล้ว ผลไม้นั้นติดเชื้อรามาตั้งแต่ยังอยู่บนต้น ก่อนเก็บเกี่ยว แต่เชื้อราคอลเลทโตตริกัมจะเข้าไปแฝงตัวอยู่อาศัย โดยไม่เป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อพืช ทำให้มองไม่เห็นแผลของโรค เพราะเนื้อเยื่อของผลไม้ ยังดิบ ไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อรา จนกว่า ผลไม้เริ่มสุก เชื้อรา ก็จะเจริญเติบโต งอกเส้นใยออกมาแทรกในเนื้อผลไม้ ทำให้เกิดอาการแผลเน่าดำบนผิวเปลือกของผลไม้ ยกตัวอย่างที่พบเป็นปัญหาทั่วไป คือ ผลมะม่วงและผลกล้วย

 

 

การจัดการควบคุมการเกิดโรค

         ดังได้กล่าวมาข้างต้น เชื้อราสกุลคอลเลทโตตริกัม มีวิถีชีวิตที่ซับซ้อน บางช่วงชีวิตมีความรุนแรงในการเกิดโรคบางช่วงชีวิต ก็เพียงอาศัยอยู่โดยไม่เป็นอันตรายต่อต้นพืช หรือบางสถานการณ์ ก็หลบแฝงอยู่ในพืช รอเวลาที่เข้าทำลายพืชอีกทั้งเชื้อรากลุ่มนี้ ชอบอากาศ ร้อน-ชื้น เชื้อจึงเจริญเติบโตได้ตลอดปีในประเทศไทย เชื้อราสามารถเข้าทำลายพืชในทุกระยะการเติบโต ตั้งแต่ยอดอ่อน ดอก กิ่งและผลของพืช นักวิชาการ จึงมักแนะนำว่า การควบคุมจัดการโรคแอนแทรคโนส ควรเป็น ”การป้องกัน” มากกว่า “การรักษา” เพราะ

  • เมื่อเกิดโรครุนแรงแล้ว สารเคมีไม่สามารถควบคุมโรคได้
  • สารเคมีเกือบทั้งหมด มีคุณสมบัติ ในลักษณะการป้องกัน มากกว่า การรักษา

ดังนั้น ถ้าพูดถึงการจัดการโรคแอนแทรคโนสบนพืชไม้ผล เช่น ผลมะม่วง ต้องควบคุมโรคให้ได้ ตั้งแต่มะม่วงเริ่มแตกยอดอ่อน ออกดอกและติดผล จนถึงก่อนเก็บเกี่ยวผลมะม่วง ซึ่งจะช่วยลดการใช้สารเคมีหลังการเกี่ยวลงได้มาก หรืออาจไม่จำเป็นต้องใช้เลย

 

 

ปัญหาการ “ดื้อยา”

                            การดื้อยา หรือ การที่เชื้อโรคต้านทานต่อสารเคมี เป็นปัญหาใหญ่ในการเกษตร แต่ข้อมูล การดื้อยา ในประเทศไทย มีค่อนข้างน้อย การใช้สารเคมีของเกษตรกร จึงมักตัดสินใจเลือกใช้ตามความเคยชิน และอาจเลือกสารเคมีที่มีราคาถูกใช้ก่อน เพื่อควบคุมต้นทุน แต่เมื่อควบคุมโรคไม่อยู่และพืชมีอาการเสียหายรุนแรงมากขึ้น ก็ตัดสินใจใช้สารเคมีที่มีราคาแพงกว่า ด้วยเชื่อว่า ยาราคาแพง จะช่วยรักษาโรคได้ แต่ในความเป็นจริง ดังกล่าวข้างต้น ยาถูก-ยาแพง ไม่เกี่ยวกับประสิทธภาพของยา เพราะสารเคมีที่มีนั้น ออกฤทธิ์เพียงการป้องกัน มากกว่า การรักษา

                            ความจริงอีกประการหนึ่ง ที่เราไม่ค่อยคิดถึงกัน คือ ปัญหาการดื้ยา ของเชื้อโรค ในต่างประเทศ ในแวดวงวิชาการอารักขาพืช จะมีการศึกษา ติดการพัฒนาการดื้อยา ต่อสารเคมีต่างๆ อยู่ตลอดเวลา และมีการตีพิมพ์ เผยแผ่ข้อมูลต่อสาธารณะ อยู่เป็นระยะๆ   สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลเรื่องการดื้อยา มักไม่ค่อยมีเผยแพร่สู่เกษตรกร แม้ว่า ความเป็นจริง เราก็มีนักวิชาการไทยที่ทำการศึกษาวิจัยไว้บ้าง แต่อาจจะรายงานเป็นภาษาอังกฤษ (เพื่อการสื่อสารกับนักวิชาการต่างประเทศ) หรืออาจจะเป็นการศึกษาร่วมกับนักวิจัยต่างชาติ และผลงานวิจัย นั้น ก็ตีพิมพ์ เป็นภาษาอังกฤษในวาสารวิชาการต่างประเทศ ดังตัวอย่างเช่น มีงานศึกษาวิจัยการประเมินการดื้อยาของเชื้อราคอลเลทโตตริกัม ที่ทำให้เกิดโรคในพริก ซึ่งเก็บตัวอย่างพริกที่เป็นโรคในจังหวัด เชียงใหม่ นครปฐม และพิจิตร โดยคณะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  จากตัวอย่างเชื้อรา 15 ตัวอย่าง (isolates) พบว่า 9 ตัวอย่าง ดื้อต่อสารคาร์เบดาซิมในระดับรุนแรง หรือคิดเป็น 60% อีก 3 ตัวอย่างมีอาการดื้อยา มีเพียง 3 ตัวอย่างเท่านั้น ที่ยังไม่ดื้อยา หรือเพียง 20%  กล่าวโดยสรุป เชื้อราคอลเลทโตตริกัม ที่เป็นสาเหตุโรคแอนแทรคโนสในพริก (เกษตรกรเรียกโรคกุ้งแห้ง) ดื้อต่อสารคาร์เบดาซิม ถึง 80%

 

 

                    ในกรณีของโรคแอนแทรคโนสในมะม่วง ก็มีการศึกษาเรื่องการดื้อยาในประเทศจีน พบว่า เชื้อราคอลเลทโตตริกัม มีการดื้อยา ต่อสารคาร์เบนดาซิมเช่นกัน และยังพบเชื่อราตระกูลนี้ยังดื้อยาข้ามกลุ่ม (cross-resistance) ไปยังสารเคมีกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มสะโตรบิลูริน (strobilurins )

                     รายงานการดื้อยา เชื้อราสาเหตุโรคแอนแทรคโนส (Colletotrichum spp, C. gloeosporioides) ก็มีรายงานว่าเกิดขึ้นกับเชื้อราคอลเลทโตตริกัม หลายชนิด กับพืชหลายชนิดและกับสารเคมีหลายกลุ่ม

 

 

           เมื่อดูสถิติการนำเข้าสารคาร์เบนดาซิมในประเทศไทย กรมวิชาการเกษตรรายงานว่า สารคาร์เบนดาซิม นำเข้ามากเป็นอัน 3 ของการนำเข้าสารป้องกันกำจัดโรคพืชทั้งหมด รองลงมาจากสารโพรพิเนบและสารแมนโคเซบ ชี้ให้เห็นว่า เกษตรกรไทยมีการใช้สารคาร์เบนดาซิมกันมาก และน่าจะรวมถึง ใช้ในการกำจัดโรคแอนแทรคโนส ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงต่อการดื้อยาสูง ซึ่งอาจเป็นเหตุผลอธิบายได้ว่า โรคแอนแทรคโนส จึงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเกษตรกร ที่มักควบคุมโรคไม่อยู่ นอกเหนือไปจาก เรื่องสารเคมีตกค้างที่เป็นปัญหาในการส่งออกผักผลไม้ของประเทศไทย   

                                      

 

ข้อคิดเห็นท้ายเรื่อง

วงการเกษตรของไทยเรา อาจจะยังขาดการตระหนักในประเด็นปัญหาทางวิชาการบางด้าน เช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับธรรชาติของศัตรูพืช ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานที่จะนำไปสู่การกำหนดยุทธวิธีที่ดีการจัดการศัตรูพืช และความรู้เกี่ยวกับสารเคมี โดยเฉพาะเรื่องการดื้ยา อันเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติระหว่างศัตรูพืชที่มีชีวิตกับสารเคมี ทำให้เรามักจะได้ยินเกษตรกรบ่นอยู่ตลอดว่า โรคนั้น เอาไม่อยู่ ต้นทุนยามีราคาแพง ผลผลิตราคาต่ำ เสมือนเป็นวงจร ที่ไม่มีทางออกสำหรับเกษตรกรไทย ????

 

เรียบเรียงโดย  สุจินต์ จันทรสอาด ที่ปรึกษาศูนย์แนะนำแก้ปัญหาการปลูกพืช VANIDA KASET (www.vanidakaset.com)

 

เอกสารที่ใช้อ้างอิงข้อมูล

  • Anthracnose diseases of some common medicinally important fruit plants, A. K. Sarkar, Journal of Medicinal Plants Studies 2016
  • Anthracnose, Integrated Pest Management for Home Gardeners and Landscape Professionals, PEST NOTES Publication 7420, University of California, 2009 
  • What are the common anthracnose pathogens of tropical fruits? D. Udayanga et al., Fungal Diversity, 2013
  • Anthracnose of mango: R. C. Ploetz, University of Florida, 2010
  • Characterization of colletotrichum species responsible for anthracnose disease of various fruits, s. freeman et al., Plant Disease / Vol. 82 No. 6, 1998
  • Morphological and molecular characterization of Colletotrichum species from herbaceous plants in Thailand, Photita et al., Fungal diversity, 2004
  • Screening and Cross-Resistance Analysis of Alternative Fungicides against Carbendazim-Resistant Colletotrichum gloeosporioides Penz from Mango (Mangifera indica L.) H. Zhang et a.,l Acta Hort. 992, ISHS 2013
  • Characterization and evaluation of carbendazim-resistance response of Colletotrichum species Suwan, N. and Na-Lampang, S., Journal of Agricultural Technology 2013
  • Blight diseases in mangoes G. E. StovoldJ. F. DirouNSW Centre for Tropical Horticulture 2004

 

***************************

13 กุมภาพันธ์ 2562

ผู้ชม 13154 ครั้ง

Engine by shopup.com