หนอนกระทู้ระบาดในข้าวโพด
หนอนกระทู้ระบาดในข้าวโพด
เอฟเอโอ เตือนให้ระวังหนอนกระทู้ระบาดในข้าวโพด
เอฟเอโอ (FAO) คือ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้ออกประกาศเตือนเรื่องการระบาดของหนอนกระทู้ชนิดหนึ่ง ที่เรียกชื่อสามัญทั่วไปว่า Fall armyworm (เรียกชื่อทางวิชาการว่า Spodoptera frugiperda) ซึ่งพบว่ามีรายงานการระบาดในข้าวโพดในอินเดีย เป็นครั้งแรก เมื่อต้นปี 2561 (รายงานในเดือน พ.ค. 2561) เอฟเอโอ สำนักงานในกรุงเทพฯ จึงออกคำเตือน เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2018 ว่าให้ระวังว่าหนอนชนิดนี้อาจแพร่กระจายจากอินเดียเข้ามาสู่ จีนตอนใต้และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเป็นศัตรูพืชที่อันตราย อีกชนิดหนึ่งในเอเชีย รวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้คอลัมน์เกษตรของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในวันที่ 11 ธ.ค. 2561 พร้อมกับรายงานว่า กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการเฝ้าระวังหนอนกระทู้ชนิดนี้มาตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2561 แต่ก็ยังไม่มีรายงานการระบาดของหนอนชนิดนี้ จนเมื่อไปดูในข่าวออนไลน์ ของ คม ชัด ลึก ซึ่งรายงานทางอินเตอร์เน็ท ในวันที่ 27 ธ.ค. 2561 ว่า ระบาดหนัก!!! ....หนอนกระทู้ทำลายข้าวโพดกว่า 3,000ไร่.... พะเยา-หนอนกระทู้ระบาดหนักในแปลงข้าวโพด พบผลผลิตเริ่มเสียหายแล้วกว่า 3,000ไร่ เกษตรจังหวัดฯเร่งสำรวจและช่วยเหลือหวั่นผลกระทบกว้าง พร้อมมีภาพประกอบอีกหลายภาพ จากรายงานของสำนักข่าว คมชัดลึก น่าจะถือได้ว่า เป็นการรายงานเป็นครั้งแรกว่า มีการระบาดของ หนอนกระทู้ Fall armyworm ในประเทศไทย
ดังนั้น ทางศูนย์แนะนำการแก้ปัญหาการเกษตร ของ วนิดาเกษตร (vanidakaset.com) จึงขอจัดทำบทความ เรื่องเกี่ยวกับ หนอนกระทู้ที่ระบาดในข้าวโพด ซึ่งเห็นว่า เกษตรกรไทย ควรจะรู้จักว่า หนอนกระทู้ คืออะไร หนอนกระทู้ในข้าวโพดมีไหมในประเทศไทย ? มีโอกาสจะเกิดการระบาดได้ไหม ? ถ้าเกิดระบาด แนวทางการแก้ปัญหา ควรจะเป็นอย่างไร ?
หนอนกระทู้ คือ อะไร ?
หนอนกระทู้ เป็นหนอนของแมลงประเภทผีเสื้อสกุลหนึ่ง (Genus Spodoptera) ซึ่งมีรายงานทางวิชาการว่ามีมากถึง 31 ชนิด (species) แต่ละชนิดอาจอาศัยกัดกินพืชได้หลายชนิด แต่ก็สามารถจำแนกแยกแยะลงไปได้อีกในระดับ สายพันธุ์ (strains) เช่น แมลงชนิดเดียวกัน มีสายพันธุ์ที่ชอบอาศัยบนข้าว (rice-strain) และสานพันธุ์ที่ชอบอาศัยบนข้าวโพด(corn-strain) ซึ่งความสำคัญของหนอนกระทู้หลายชนิด พบแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก ทำความเสียหายทางเศรษฐกิจกับพืชในการเกษตรมากมายหลายชนิด อยู่ในปัจจุบัน
เนื่องจาก แมลงในโลกนี้มีมากมายหลายชนิด จึงต้องมีระบบเรียกชื่อที่เป็นสากล เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและเพื่อใช้อ้างอิงในทางวิชาการ เรียกว่า ชื่อวิทยาศาสตร์ สำหรับคนทั่วไป ก็อาจใช้ชื่อทั่วไป เรียกว่า ชื่อสามัญ ซึ่งก็อาจแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ทำให้ชื่อสามัญมักมีหลายชื่อ ขึ้นอยู่ภูมิภาคที่พบแมลงนั้นๆ แม้ว่า หนอนกระทู้จะมีมากมายชนิด แต่ผู้เชียวชาญด้านแมลง ก็กล่าวว่า มี 4 ชนิด ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากที่สุด เพราะเป็นแมลงที่ทำความเสียหายให้กับพืชการเกษตรทั่วโลก
- Spodoptera exygua [ชื่อสามัญ beet armyworm; ชื่อภาษาไทย หนอนกระทู้หอม หนอนหนังเหนียว]
- Spodoptera litura[ ชื่อสามัญ cmmon cutworm; ชื่อภาษาไทย หนอนกระทู้ผัก หนอนรัง ]
- Spodoptera littoralis [ชื่อสามัญ cotton leafworm; ชื่อภาษาไทย หนอนกระทู้ฝ้าย ? ]
- Spodoptera frugiperda [ชื่อสามัญ fall armyworm; ชื่อภาษาไทย หนอนกระทู้ข้าวโพด ? ]
หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก เป็นชื่อที่เกษตรกรไทย คุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะหนอนกระทู้ทั้ง 2 ชนิดนี้ ทำความเสียหายให้กับพืชหลายชนิดและกำจัดได้ยาก โดยเฉพาะพืชผักตระกูลกะหล่ำ หอม พริก องุ่น แตงโม เมล่อน เป็นต้น แต่หนอนกระทู้อีก 2 ชนิด คือ Cotton leafworm(S. littoralis) และ Fall armyworm(S. frugiperda) นั้น ยังไม่มีรายงานการระบาดในประเทศไทยมาก่อน จึงยังไม่มีชื่อเรียกในภาษาไทย ดังนั้น เพื่อความสะดวกในการสื่อสาร จึงขอเรียกชื่อในบทความนี้ว่า หนอนกระทู้ฝ้าย และ หนอนกระทู้ข้าวโพด ไปพลางก่อนจนกว่า จะมีการตั้งชื่อในภาษาไทยอย่างเป็นทางการ
ชีวิตและการแพร่กระจายของหนอนกระทู้ข้าวโพดในโลก
ในทางทฤษฎี สิ่งมีชีวิตสื่อสารระหว่างกันผ่านทางสารเคมี แมลงที่กินพืช สามารถสื่อหารพืชที่ชอบกินได้ผ่านทางสารเคมีที่พืชปล่อยออกมา ดังนั้น หนอนกระทู้ ก็มีความสารถที่จะหาพืชอาศัยที่เหมาะสม หรือเลือกพืชชนิดที่ชอบ จนหนอนบางชนิด พัฒนาไปเป็นสายพันธุ์ เช่น หนอนกระทู้ Fall armyworm สายพันธุ์ข้าว และ ทู้สายพันธุ์ ข้าวโพด หนอนชนิดนี้ มีนิสัยเคลื่อนย้ายได้ไกลมาก มีงานวิจัยรายงานว่า หนอนกระทู้ชนิดนี้สารมารถเคลื่อนย้ายได้ไกลกว่า 100 กิโลเมตรต่อคืน
หนอนกระทู้ข้าวโพด มีต้นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน จึงมีรายงานการระบาดในแถบอเมริกา ทั้งในอเมริกาใต้และในสหรัฐอเมริกา เช่น ในรัฐฟลอริดา แม้ว่า หนอนกระทู้ชนิดนี้ จะมีพืชอาศัยหลายชนิด แต่รายงานการระบาดส่วนใหญ่จะเกิดในข้าวโพด
นอกจากในพื้นที่อเมริกาใต้ (อาร์เจนตินา บราซิล) ที่หนอนกระทู้ข้าวโพดระบาดหนัก ทำความเสียหายต่อข้าวโพด ซึ่งเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจต่อเนื่องตลอดมาแล้ว ในปี 2016 เอฟเอโอ ยังได้รายว่า หนอนกระทู้ชนิดนี้ พบระบาดในข้าวโพด เป็นครั้งแรกในอาฟริกา ซึ่งข้าวโพดก็เป็นแหล่งอาหารหลักของประชากรในอาฟริกา ด้วยเช่นกัน และต่อมาในปี 2018 ก็พบระบาดในเอเชีย ที่ประเทศอินเดียและเยเมน
พฤติกรรมการทำลายและความเสียหายจากหนอนกระทู้ข้าวโพด
แม่ผีเสื้อตัวเต็มวัย วางไข่เป็นกลุ่มบนใบข้าวโพด ส่วนมากใต้ใบ ตัวอ่อนระยะแรกที่ฝักออกจากไข่ จะกัดแทะเนื้อเยื้อผิวใบ และหนอนจะแพร่กระจายตัวออกไป ด้วยการทิ้งตัวด้วยใยจากตัวหนอน เพื่อให้ลมพาไป การแพร่กระจายของหนอนบางครั้ง จึงไปทั่ว 100% ของพื้นที่ ซึ่งโดยทั่วไป จะพบหนอนเข้าทำลายต้นข้าวโพดในระยะเล็ก เข้ากัดกินยอดอ่อนที่ใบยังม้วนอยู่ เข้าไปซ่อนตัวหนีศัตรูธรรมชาติของหนอนด้วย ดังนั้น การทำลายของหนอนจะสังเกตได้ในระยะที่เนื้อเยื่อพืชเสียมากขึ้นและมีมูลถ่ายของหนอนออกมา หนอนจะซ่อนตัวลึกลงไปในใบข้าวโพดที่ม้วน และถ้าอากาศแห้ง มูลของหนอนจะแห้งคล้ายผงขี้เลื่อย ช่วยอำพรางหนอนจากศัตรูธรรมชาติ หนอนสามารถเข้าทำลายต้นข้าวโพดไปจนถึงระยะติดฝัก หนอนจะเข้ากัดกินเมล็ดอ่อนบนฝัก ไหมข้าวโพด พฤติกรรมของหนอนกระทู้ข้าวโพด จึงทำความเสียหายต่อต้นข้าวโพดได้มาก เพราะหนอนเข้าทำลายจนถึงระยะข้าวโพดติดฝักติดเมล็ด และทำความยุ่งยากในการฉีดพ่นสารกำจัดแมลงสำหรับเกษตรกรรายเล็กที่ใช้การฉีดพ่นด้วยเครื่องฉีดขนาดเล็ก สะพายหลัง
หนอนกระทู้ข้าวโพดในประเทศไทย
จากการประกาศแจ้งเตือนของ เอฟเอโอ ให้ระวังการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในเขตอเมริกาและอาฟริกา จะแพร่ระบาดเข้ามาในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยด้วย นั้น คอลัมน์ศัตรูพืชของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้นำมารายงาน เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561ว่า กรมวิชาการเกษตร ได้ให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังโดยสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวโพด มาตั้งแต่ เดือนสิงหาคม 2561 แต่ยังไม่พบการระบาดของหนอนกระทู้ชนิดนี้ จนกระทั่ง แหล่งข่าวของหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ได้รายงานในวันที่ 27 ธันวาคม 2561 ว่ามีหนอนกระทู้ทำลายข้าวโพด อย่างหนัก กว่า 3000 ไร่ ที่จังหวัดพะเยา พร้อมกับมีรูปต้นข้าวโพดที่ถูกทำลายโดยหนอน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูป หนอนและลักษณะการทำลาย เหมือนกับหนอนกระทู้ข้าวโพด ที่ได้อ้างอิงมาข้างต้น
ในช่วงปี 2557- 2558 ฝ่ายวิชาการของกลุ่มบริษัท ลัดดา กรุ๊ป ได้ทำการทดสอบสาธิตโปรแกรมการบริหารจัดการศัตรูในข้าวโพดในพื้นหลายแห่งในภาคกลางและภาคเหนือ แต่ไม่พบหนอนกระทู้ข้าวโพดระบาดในแปลงทดสอบ มีเพียงหนอนกระทู้ผัก ซึ่งเข้าทำลายใบข้าวโพดในข้าวโพดต้นเล็ก แต่ไม่พบเมื่อข้าวโพดต้นโตขึ้นหรือเข้าทำลายฝักข้าวโพด ซึ่งอาจวิเคราะห์ได้ว่า หนอนกระทู้หอมและหนอนกระทู้ผัก มีโอกาสเลือกพืชอาศัยอื่นๆ เช่น ผัก ซึ่งหนอนทั้ง 2 ชนิดชอบมากกว่าข้าวโพด
การดื้อยาของหนอนกระทู้
เนื่องจากหนอนกระทู้ข้าวโพด เป็นแมลงที่มีนิสัยการอพยพเคลื่อนย้ายได้ระยะทางไกลๆและมีพืชอาศัยมากมายหลายชนิด ทำให้การควบคุมแมลง ด้วยวิธีต่างๆ ไม่ค่อยได้ผลมากนัก การใช้สารกำจัดแมลงจึงเป็นวิธีหลัก แต่เมื่อมีการใช้สารกำจัดแมลงมาก หนอนก็พัฒนา ดื้อยา ต่อสารเคมีหลายชนิด จากการทดสอบสารเคมีต่างๆกับหนอนกระทู้ข้าวโพด พบว่า หนอนกระทู้ข้าวโพด ดื้อยา ต่อสารไพรีทรอยด์สังเคราะห์ และสารออแกนโนฟอสเฟส (เช่น คลอไพริฟอส)
ในแปลงทดสอบโปรแกรมการป้องกันกำจัดหนอนของ บริษัท ลัดดา กรุ๊ป ได้เปรียบเทียบการใช้สารอีมาเม็คติน เบนโซเอท กับ สารไดอะซินอน ซึ่งเป็นสารเคมีที่อยู่ในกลุ่มออแกนโนฟอสเฟส ซึ่งผลการทดสอบ พบว่า สารอีมาเม็คติน มีประสิทธิภาพในการควบคุมหนอนได้กว่าสารไดอะซินอน ดังนั้น การใช้สารเคมี จึงต้องระวังในเรื่องของ การดื้ยา นอกเหนือไปจากระดับความเป็นพิษต่อคน
คำแนะนำหลักการ การจัดการควบคุมหนอนกระทู้ข้าวโพด
ด้วยเหตุที่หนอนกระทู้ข้าวโพด เข้าทำลายต้นข้าวโพดตั้งแต่ยังเล็ก ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการศัตรูพืช จึงแนะนำควบคุมหนอนในแปลงข้าวโพด ต้องเป็นลักษณะการติดตามตรวจสอบต้นข้าวโพดตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ระยะเป็นต้นกล้า เพื่อติดตามประชากรของหนอนได้ทันการ เมื่อพบหนอนเริ่มเข้าทำลายใบและยอดข้าวโพด ต้องเริ่มโปรแกรมการฉีดพ่นสารกำจัดแมลง
เอฟเอโอและกลุ่มสภาอุตสาหกรรมธุรกิจเคมีเกษตร (IRAC) แนะนำใช้หลักการ ไอพีเอ็ม (IPM : Integrated Pest Manangement) เป็นยุทธศาสตร์ในการควบคุมการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพด โดยเน้นไปที่ การใช้สารกำจัดแมลงในกลุ่มที่มีพิษต่อคนต่ำและการใช้สารชีวภัณฑ์กำจัดแมลง เช่น สาร บีที (Bt: Bacillus thurigiensis)
เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรายเล็ก พื้นที่ปลูกต่อคนมีไม่มากนัก การใช้เครื่องมือการเกษตรเกษตร จึงเป็นแบบง่ายๆ โดยเฉพาะเครื่องฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืชจะเป็น เครื่องสะพายหลังฉีดพ่นโดยแรงงานคน และถ้ามีความจำเป็นต้องฉีดข้าวโพดในระยะที่ต้นโตหรือระยะติดฝัก ก็จะเป็นอันตรายกับคนฉีดพ่น ดังนั้น การใช้สารชีวภัณฑ์ เพื่อกำจัดหนอน จึงปลอดภัยต่อเกษตรกร มากที่สุด และการใช้สารชีวภัณฑ์ สลับ กับสารเคมี ยังเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการเรื่องการ “ดื้อยา” ของแมลงศัตรู
ข้อคิดเห็นท้ายเรื่อง
จากการแจ้งเตือนของ เอฟเอโอ ในปี 2561 และการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ในสหราชอาณาจักร ว่าหนอนกระทู้ข้วโพดจะระบาดเข้ามาในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย นั้น บัดนี้ จากรายงานข่าวของสื่อ ก็ยืนยันแล้ว่า หนอนกระทู้ข้าวโพด ซึ่งเป็นหนอนกระทู้ชนิดใหม่ที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อนว่าพบในประเทศไทย ได้เกิดระบาดขึ้นแล้วในไร่ข้าวโพดทางภาดเหนือ เพราะฉะนั้น แมลงศัตรูพืชชนิดนี้ ควรจะต้องมีงานวิจัยจากกรมวิชาการเกษตรและสถาบันการศึกษา กันให้มากขึ้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลท้องถิ่นสำหรับการวางแผนการควบคุมการระบาดของแมลงมีประสิทธิภาพสำหรับเกษตรกร ต่อไป
เรียบเรียงโดย สุจินต์ จันทรสอาด ที่ปรึกษาศูนย์แนะนำแก้ปัญหาการปลูกพืช VANIDA KASET (www.vanidakaset.com)
เอกสารที่ใช้อ้างอิงข้อมูล
- Fall Armyworm likely to spread from India to other parts of Asia with South East Asia and South China most at risk, FAO Rome/Bangkok, 14 August 2018
- เตือนภัยหนอนกระทู้ข้าวโพด ไทยรัฐ 11 ธันวาคม 2561
- ระบาดหนัก!!!หนอนกระทู้ทำลายข้าวโพดกว่า 3,000ไร่ คมชัดลึก 27 ธันวาคม 2561
- Systematics of Spodoptera, MSc Thesis, Lammers, 2012-2013
- Comparison of Haplotype Frequencies Differentiate Fall Armyworm (Lepidoptera: Noctuidae) Corn-Strain Populations from Florida and Brazil, R. N. Nagoshi, et al, Econ. Entomol.,2007
- Training Manual on Fall Armyworm, FAO, 2017
- Biology and nutrition of Spodoptera frugiperda (Lepidoptera: Noctuidae) fed on different food sources, Débora Mello da Silva, et al., Sci. Agric. v.74, n.1, p.18-31, January/February 2017
- Susceptibility of the Fall Armyworm, Spodoptera frugiperda (LEPIDOPTERA: NOCTUIDAE), at SANTA ISABEL, PUERTO RICO, To Different Insecticides, D. K. Belay, et al., Florida Entomologist, 2012
- Integrated management of the Fall Armyworm on maize A guide for Farmer Field Schools in Africa FAO 2018
- Managing fall armyworm, Spodoptera frugiperda (Lepidoptera: Noctuidae), with Bt maize and insecticides in southern Brazil LeonardoMBurtet, Oderlei et al, Pest Manag Sci (2017)
- Management of Fall armyworm (Spodoptera frugiperda), with emphasis on Bt Transgenic Technology G. Dively, University of Maryland, 2018
- Forecasting the global extent of invasion of the cereal pest Spodoptera frugiperda, the fall armyworm Early, et al., NeoBiota 40: 25–50 (2018)
***************************
26 กุมภาพันธ์ 2562
ผู้ชม 19591 ครั้ง