โรคราน้ำค้างในผักตระกูลกะหล่ำ
โรคราน้ำค้างในผักตระกูลกะหล่ำ
โรคราน้ำค้างในผักตระกูลกะหล่ำ
ผักตระกูลกะหล่ำ หมายถึง ผักหลายชนิดที่จัดอยู่ในพืชตระกูลเดียวกันในทางพฤกษศาสตร์ ได้แก่ คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักกาดขาวปลี ผักกาดเขียวปลี เป็นต้น เนื่องจากผักเหล่านี้เป็นพืชในตระกูลเดียวกัน ปัญหาด้านศัตรูพืช จึงเหมือนกันในทุกท้องที่ ที่มีการปลูกพืชผักตระกูลกะหล่ำ โรคที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งในพืชตระกูลกะหล่ำ คือ โรคราน้ำค้าง ดังจะเห็นได้จากคอลัมน์เกษตรในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กะหล่ำผักกาด.............ระวังราน้ำค้าง ปลายหนาว ต้นร้อน กลางคืนเย็น กลางวันแดดแรง .....เตรียมรับมือการระบาดของโรคราน้ำค้าง.....
บทความนี้ จึงยากจะพูดถึง โรคราน้ำค้าง คืออะไร มีสาเหตุจากอะไร เชื้อโรคมีนิสัยแบบไหน ? เพื่อเกษตรกรจะได้นำไปเป็นพื้นฐานในการกำหนดวิธีการป้องกันกำจัด ต่อไป
โรคราน้ำค้าง
โรคราน้ำค้าง เป็นโรคที่พบระบาดในพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจ หลายๆ ชนิด เช่น องุ่น พืชตระกูลแตง และพืชตระกูลกะหล่ำ แม้ว่าโรคราน้ำค้างจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเกษตรอย่างมากมายทั่วโลก แต่การศึกษาเกี่ยวกับเชื้อนี้ ก็ยังมีน้อย เพราะการเพาะเชื้อในห้องแล็ปทำได้ยากและยังเป็นปัญหาทางการจำแนกชนิดของเชื้อได้อย่างถูกต้อง การตรวจสังเกตการเกิดโรคในระยะเริ่มต้นได้ถูกต้อง มีความสำคัญต่อวางแผนการป้องกันกำจัดโรค
เชื้อสาเหตุของโรคราน้ำค้าง ไม่ใช่เชื้อรา ครั้งหนึ่งนักวิทยาศาสตร์ จัดให้อยู่ในอาณาจักรเดียวกันกับเชื้อรา แต่ความรู้ในปัจจุบัน ได้แยก เชื้อสาเหตุของโรคราน้ำค้าง ออกเป็นอีกอาณาจักหนึ่ง เรียกว่า อูไมซีส (Oomycetes) ซึ่งเชื้อโรคไฟทอปธอรา ก็อยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้ ดังนั้น เชื้อในกลุ่มอูไมซิส จึงมีวิถีชีวิต ที่แตกต่างไปจากเชื้อรา
เชื้อสาเหตุราน้ำค้าง จะขยายพันธุ์โดยสปอร์ ซึ่งแพร่กระจายโดย ลมและฝน ลักษณะอาการของโรคในระยะเริ่มแรก แผลบนใบพืชจะมีรูปร่างไม่แน่นอน เป็นแผ่นสีเหลืองบนใบอ่อนหรือใบเลี้ยงของต้นกล้าพืช เมื่อแผลพัฒนามากขึ้นเชื้อจะสร้างสปอร์บนด้านใต้ใบ ถ้าโรคเกิดบนต้นกล้า อาจทำให้ต้นกล้าตายได้ ถ้าเกิดบนต้นพืชที่โต อาการแผลอาจเป็นสีเทา สีน้ำตาล หรือจุดสีดำ
สภาวะที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคราน้ำค้าง คือ อากาศที่มีความชื้อสูง (60-70%RH) อุณหภูมิไม่สูงเกินไป(รายงานวิจัยระบุว่า อุณหภูมิสำหรับโรคราน้ำค้างในพืชตระกูลกะหล่ำ เกิดได้ตั้งแต่ 8-24 C) อุณหภูมิช่วง 15-20 C เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด เพราะฉะนั้นในช่วงต้นปี ที่กลางคืนอากาศค่อนข้างเย็น และมีความชื้นสูง จึงเหมาะกับการเข้าทำลายของเชื้อโรคราน้ำค้าง
อาการของโรคราน้ำค้าง
การสังเกตอาการของโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะมีประโยชน์ต่อเกษตรกรในการวางแผนการป้องกันกำจัดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้น เราจึงควรต้องรู้ว่า อาการเริ่มต้นของโรคราน้ำค้าง จะมีลักษณะเป็นจุดเล็กๆ สีเหลืองบนด้านบนของใบพืช หลังจากนั้นแผลจะพัฒนาเป็นแผ่นที่มีเส้นใยและสปอร์ด้านใต้ใบ
ถ้าเชื้อโรคสามารถเจริญเติบโตไปถึงระยะการสร้างสปอร์ ก็จะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้มากขึ้น โดยลมและน้ำ ทั้งฝนหรือการให้น้ำทางสปริงเกอร์ ดังนั้น การป้องกันการแพร่กระจายของสปอร์ตั้งแต่ระยะแรกๆ ก่อนที่จะเห็นอาการโรคที่รุนแรงบนใบพืช จนแผลบนใบเปลี่ยนจากสีเหลือง เป็นสีน้ำตาล จะช่วยให้การควบคุมโรคได้ประสิทธิภาพมากขึ้น
การป้องกันกำจัดโรค
การป้องกันกำจัดโรคราน้ำค้าง ในทางวิชาการอาจมีได้หลายวิธี เช่นใช้พันธุ์ต้านทานโรค การปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชตระกูลกะหล่ำ แต่การป้องกันกำจัดด้วยสารเคมี ก็ยังเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นวิธีที่เกษตรกรนิยม เพราะปฏิบัติง่าย รวดเร็ว แต่การใช้สารเคมีก็ต้อง ระมัดระวังในเรื่องของสารเคมีตกค้างบนผลผลิต และเรื่องของการ “ดื้อยา”
จากรายงานการทดสอบสารเคมีกำจัดโรคราน้ำค้าง (Peronospora parsitica) ในพืชคะโนลา (canola) พบว่า การใช้วิธีคลุกเมล็ดด้วยสาร ฟอสเอทิล (fosetyl) ค็อปเปอร์ ออกซี่คลอไรด์ (copper oxychloride) และ เบโนมิล (benomyl) ไม่ได้ผล การพ่นทางใบด้วยสารเมทาแลกซิล (metalaxyl) หลังจากเชื้อเข้าทำลายแล้ว ก็ไม่ได้ผลเช่นกัน ซึ่งมีรายงานการ ดื้อยา ต่อสารเมทาแลกซิล ของโรคราน้ำค้างในถั่ว (Peronospora viciae)
การทดสอบการป้องกำจัดโรคราน้ำค้างในหอม พบว่า สารโพรพาโมคาร์บ ไฮโดรคลอไรด์ (propamocarb hydrochloride) มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดโรคราน้ำค้างได้ดี
ข้อมูลด้านการ “ดื้อยา” อาจจะไม่ค่อยมีในระดับท้องถิ่น แต่ข้อมูลจากการติดตามสำรวจของ FRAC ของสภาอุตสาหกรรมเคมีเกษตรโลก (CropLife International) ให้ข้อมูล “การดื้อยา” ของเชื้อโรคต่างๆต่อสารเคมีกลุ่มต่างๆที่มีการใช้อยู่ในท้องตลาด ในปี 2017 ซึ่งรวมถึงเชื้อโรคราน้ำค้าง ที่ดื้อยาต่อสารกลุ่ม เฟนนิลเอไมด์ (Phenylamides) เช่น เมทาแลกซิล เบโนมิล
การใช้สารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช
สารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช เช่น บาซิลลัส ซับทิลิส (Bacillus subtilis) เป็นทางเลือกอีกวิธีหนึ่งในปัจจุบัน ซึ่งสารชีวภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพ จะช่วยได้ทั้งในการป้องกันกำจัดโรคและมีความปลอดภัย ไม่มีปัญหาเรื่องสารเคมีตกค้างบนผลผลิต
ข้อคิดเห็นท้ายเรื่อง
เชื้อโรคราน้ำค้าง เป็นเชื้อโรคที่ชอบอากาศ ค่อนข้างเย็น แต่มีความชื้นสูง ดังนั้น โรคนี้จึงมักเกิดในช่วงปลายปีต่อต้นปีถึงเดือนกุมภาพันธุ์ หลังจากนั้น เมื่อเข้าเดือน มีนาคม อากาศจะเป็นหน้าร้อน ความรุนแรงของโรคอาจจะลดลง การเตือนภัยต่อการระบาดของโรคเดือนกุมภาพันธ์ อาจจะช้าเกินไปสำหรับเกษตรกร แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในบทความนี้ ก็อาจเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในฤดูปลูกต่อๆไป
เรียบเรียงโดย สุจินต์ จันทรสอาด ที่ปรึกษาศูนย์แนะนำแก้ปัญหาการปลูกพืช VANIDA KASET (www.vanidakaset.com)
เอกสารที่ใช้อ้างอิงข้อมูล
- Symptoms, pathogen biology and control of downy mildew of Brassica – A mini , N. Amin, et al, Journal of Biosphere, 2(1): 6-9, 2013
- Downy Mildew of Brassicasม Minchinton, et al., Institute for Horticultural Development, Knoxfield, Victoria, 1997
- Evaluation of fungicides for the control of downy mildew (Peronospora parasitica ) in canola
- Khangura, 13th Australian Research Assembly on Brassicas – Conference Proceedings
- Efficacy of Different Fungicides for the Control of Downy Mildew of Onion, J. Abkhoo, doi:10.4172/scientificreports.3312012
- Downy Mildew Caused By Hyaloperonospora (Peronospora) spp. on Wild Rocket (Diplotaxis tenuifolia) and Other Crops from Brassicaceae Family, Ms thesis, J. Johansen Hladilová, Norwegian University of Life Sciences 2010
- Resistance in Peronospora viciae to phenylamide fungicides: reduced efficacy of seed treatments of pea (Pisum sativum) and assessment of alternatives Richard E. Falloon, et al, Crop Protection 19 (2000)
- FRAC LIST OF PLANT PATHOGENIC ORGANISMS RESISTANT TO DISEASE CONTROL AGENTS, Revised December 2017
***************************
26 กุมภาพันธ์ 2562
ผู้ชม 15195 ครั้ง